อย่าลืม! ผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสาร-รถบรรทุกต้องบำรุงรักษารถทุก 6 เดือน

  • ต้องนำแบบบันทึกผลการบำรุงรักษารถ
  • มาแสดงประกอบการตรวจสภาพรถ
  • หรือชำระภาษีประจำปีทุกครั้ง

นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และโฆษก ขบ. เปิดเผยว่า ตามที่ ขบ. ได้มีประกาศเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการบำรุงรักษารถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 4 มี.ค.65 มีผลให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกและรถโดยสาร ประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก และการขนส่งส่วนบุคคล ต้องทำการบำรุงรักษารถตามระยะเวลาทุก 6 เดือน หรือระยะทาง 40,000 กิโลเมตร (กม.)

หรือตามระยะทางหรือระยะเวลาที่น้อยกว่า หรือตามระยะทางหรือระยะเวลาที่ผู้ผลิตรถกำหนดก็ได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งทำการตรวจสอบและบำรุงรักษารถเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานและลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการชำรุดบกพร่องของเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถ โดยผู้ประกอบการขนส่งที่มีการบำรุงรักษารถอยู่ก่อนแล้วสามารถดำเนินการบำรุงรักษารถตามรอบระยะทางหรือระยะเวลาเดิมของรถได้ต่อไป

นายเสกสม กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการขนส่งที่ยังไม่เคยมีการบำรุงรักษารถมาก่อน ให้เริ่มดำเนินการบำรุงรักษารถตามรอบระยะเวลา ดังต่อไปนี้ รถที่มีอายุภาษีสิ้นงวดที่ 3 ปี 65 (ก.ค.-ก.ย.65) จะต้องเริ่มทำการบำรุงรักษารถ และนำแบบบันทึกผลการบำรุงรักษารถ (Logbook) มาแสดงประกอบการตรวจสภาพรถหรือชำระภาษีประจำปี ตั้งแต่ 1 เม.ย.2566 เป็นต้นไป, รถที่มีอายุภาษีสิ้นงวดที่ 4 ปี 65 (ต.ค.-ธ.ค.65) จะต้องเริ่มทำการบำรุงรักษารถ และนำแบบบันทึกผล การบำรุงรักษารถ (Logbook) มาแสดงประกอบการตรวจสภาพรถหรือชำระภาษีประจำปี ตั้งแต่ 1 ก.ค.2566 เป็นต้นไป

รถที่มีอายุภาษีสิ้นงวดที่ 1 ปี 65 (ม.ค.-มี.ค.65) จะต้องเริ่มทำการบำรุงรักษารถ และนำแบบบันทึกผล การบำรุงรักษารถ (Logbook) มาแสดงประกอบการตรวจสภาพรถหรือชำระภาษีประจำปี ตั้งแต่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป และ รถที่มีอายุภาษีสิ้นงวดที่ 2 ปี 65 (เม.ย.-มิ.ย.65) จะต้องเริ่มทำการบำรุงรักษารถ และนำแบบบันทึกผลการบำรุงรักษารถ (Logbook) มาแสดงประกอบการตรวจสภาพรถหรือชำระภาษีประจำปี ตั้งแต่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ผู้ประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถทุกรายต้องนำแบบบันทึกผลการบำรุงรักษารถมาแสดงประกอบการตรวจสภาพรถหรือชำระภาษีประจำปีทุกครั้ง โดยแบบบันทึกผลการบำรุงรักษารถ (Logbook) ที่นำมาแสดงประกอบการตรวจสภาพรถจะเป็นกระดาษ หรือ อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

โดยในขั้นตอนการบำรุงรักษารถนั้น ผู้ประกอบการขนส่งสามารถนำรถเข้าทำการบำรุงรักษาได้ตามช่องทางต่างๆ ได้แก่ ศูนย์บริการของผู้ผลิตรถ อู่รับซ่อมรถทั่วไป หรือศูนย์ซ่อมของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือเจ้าของรถก็ได้ ซึ่งรายละเอียดรายการที่ต้องบำรุงรักษารถ มีจำนวน 10 รายการ ได้แก่ 1.ระบบเครื่องยนต์ 2.ระบบไอเสีย 3.ระบบส่งกำลัง 4.ระบบบังคับเลี้ยว 5.ระบบห้ามล้อ 6.ระบบรองรับน้ำหนัก 7.ระบบไฟฟ้า ไฟส่องสว่างและไฟสัญญาณ 8.กงล้อและยาง 9.ตัวถัง และ 10.ระบบเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ ขบ. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถให้ทำการบำรุงรักษาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อความพร้อมของรถ และความปลอดภัยในการให้บริการประชาชน ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเนื่องจากอุบัติเหตุ และเนื่องจากการบำรุงรักษารถได้ถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามมติของคณะกรรมการควบคุม ขบ. ดังนั้น การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะถือว่าเป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท และอาจส่งผลต่อการพิจารณาการต่อใบอนุญาตประกอบการขนส่งต่อไปด้วย