“อนุทิน” เตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุข อ.เบตง จ.ยะลา เปิดประตูสู่การท่องเที่ยวชายแดนใต้

  • เปิดเมืองเป็นประตูสู่การท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
  • เตรียมพัฒนาและขยายบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
  • รองรับการดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยว ลดการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกพื้นที่

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2565) ที่โรงพยาบาลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 และคณะ ติดตามความพร้อมการเปิดท่าอากาศยานนานาชาติเบตง และมอบนโนบายด้านการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมพบปะอาสาสมัครกระทรวงสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวนกว่า 300 คน

นายอนุทิน กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของท่าอากาศยานนานาชาติเบตง เนื่องจากในอนาคตอำเภอเบตง จะเป็นประตูด่านแรกในการต้อนรับผู้เดินทางทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านสู่การท่องเที่ยวและประกอบธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น จึงต้องเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งการคมนาคมทางบก/อากาศ การขนส่ง การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนระบบการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งพบว่ามีความพร้อมในการให้บริการประชาชน อำนวยความสะดวกในการเดินทางสัญจรอย่างมาก

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเบตงซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน หากมีการเปิดเมืองและดำเนินการท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาและขยายการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อดูแลประชาชน/นักท่องเที่ยว และลดการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลนอกพื้นที่ โดยในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา อำเภอเบตง ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มแข็งทุกมิติ เช่น มาตรการ COVID Free Setting ในโรงเรียน ร้านอาหาร ตลาด โรงแรม และศาสนสถาน รวมถึงให้บริการฉีดวัคซีนทั้งในโรงพยาบาลเบตง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ด่านเข้าเมืองเบตง และการฉีดวัคซีนเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกล ทำให้สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างชัดเจน เชื่อมั่นว่าความร่วมมือเหล่านี้ ทำให้อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จะเป็นอีกหนึ่งเป็นเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบธุรกิจ ช่วยเดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศไทยได้

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2565 จังหวัดยะลามีผู้ติดเชื้อสะสม 557 ราย รักษาหายแล้ว 537 ราย เสียชีวิตสะสม 11ราย วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24 ราย กำลังรักษา 165 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนการฉีดวัคซีนในพื้นที่ ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว ร้อยละ 64.40 เข็มที่ 2 ร้อยละ 53.80 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 7.91