ห้องเรียนนักลงทุน “ความรู้การลงทุน”

ห้องเรียนนักลงทุน (1)

ที่ผ่านมาคอลัมน์นี้ได้มีข้อมูลความรู้ หลักคิดและหลักปฏิบัติในการวางแผนบริหารจัดการการเงิน เพื่อนำชีวิตไปสู่ความมั่งคั่งและอิสรภาพทางการเงิน

​ปัจจัยหลักที่จะทำให้เรามีเงินออมเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลคือ  1. ระยะเวลาในการออม ยิ่งออมเร็วออมยาวออมสม่ำเสมอ เงินออมยิ่งเพิ่ม 2. จำนวนเงินที่ออม ยิ่งออมมาก เงินก็จะก้อนใหญ่ขึ้น  3. สำคัญคือการนำเงินออมไปลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้งอกเงย ยิ่งได้ผลตอบแทนสูงก็ยิ่งได้เงินเยอะขึ้น !!

​ การลงทุน” จึงเปรียบเสมือนทางด่วนสู่ความมั่งคั่ง  หากตั้งต้นได้เร็ว ออกตัวดี ตั้งเป้าหมาย และวางแผนการลงทุนที่ถูกต้อง ก็ทำให้ถึงเส้นชัยได้เร็วขึ้น

​ซึ่งการลงทุนมีหลากหลาย ทั้งลงทุนในหุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ หุ้นกู้ อนุพันธ์ อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ เป็นต้น 

​สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทุน และต้องการเรียนรู้เพื่อเริ่มลงทุนนั้น ในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ www.set.or.thหัวข้อ “ความรู้การลงทุน” หน้า “ห้องเรียนนักลงทุน” มีข้อแนะนำและหลักคิดสำหรับ “มือใหม่เริ่มลงทุน” ไว้อย่างน่าสนใจ สำหรับผู้ที่ไม่รู้จะลงทุนอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน

​โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้อง “รู้จักตนเอง” ถามตัวเองก่อนว่า เป้าหมาย การลงทุนของเราคืออะไร? ต้องการใช้เงินเท่าไหร่? และต้องการบรรลุเป้าหมายเมื่อใด? 

​ เช่น  ต้องการลงทุนเพื่อบั้นปลายชีวิต ลดหย่อนภาษี เอาชนะเงินเฟ้อ หรือทำกำไร ต้องใช้เงินเท่าไร โดยระบุจำนวนให้ชัดเจน เพราะแต่ละเป้าหมายใช้เงินต่างกันและกำหนดเวลาบรรลุเป้าหมาย เช่น ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ระยะกลาง 1-5 ปี หรือระยะยาวตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป 

​จากนั้นมาพิจารณา “เงื่อนไข” การลงทุนของเรา เช่น เราอายุเท่าไร ชอบหรือสนใจลงทุนในสินทรัพย์ไหน? พอมีความรู้หรือไม่?   มีเงินลงทุนมากน้อยเพียงใด? ต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่? และมีเวลาติดตามข่าวสารด้านการลงทุนหรือไม่? หากขาดทุน จะยอมรับได้ในวงเงินไม่เกินเท่าไหร่? หากได้กำไรจะเพิ่มวงเงินในการลงทุนหรือไม่?

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน?” จะได้รู้ว่าเราควรลงทุนแบบไหน  ต้องจัดสัดส่วนหรือกระจายการลงทุนแบบใดที่จะเหมาะสม เพื่อให้บรรลุหรือใกล้เคียงเป้าหมายมากที่สุด

หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ยอมรับความผันผวนได้น้อย คือไม่ต้องการขาดทุนให้เงินต้นหดหาย การลงทุนส่วนใหญ่จึงมุ่งไปที่การรักษาเงินลงทุนให้ปลอดภัย ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจทำให้โอกาสได้ผลตอบแทนไม่สูง

รับความเสี่ยงได้ปานกลาง  ยอมรับความผันผวนได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่มากจนเกินไปเพื่อแลกกับการได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นและหวังให้เงินลงทุนบางส่วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

หรือหากรับความเสี่ยงได้สูง เพราะมุ่งหวังจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น รวมถึงโอกาสที่เงินลงทุนจะเติบโตเพิ่มขึ้นก็มีมาก ขณะเดียวกันก็มีโอกาสขาดทุนสูงเช่นกัน

เมื่อรู้จักตัวเองดีแล้ว..คราวหน้ามาดูกันว่า สินทรัพย์ต่างๆ ที่จะเลือกลงทุนนั้น มีความเสี่ยงและโอกาสได้ผลตอบแทนสูง-ต่ำ หรือมีข้อดี-เสียอย่างไร เพื่อช่วยให้เราจัดสรรเงินลงทุนได้เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้!!

คุณนายพารวย

ขอบพระคุณหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ