แก่แล้วไง มีตังค์ใช้!!

Plant growing from soil with coin in the glass jar against blurred natural green background and copy space for investment, business, finance and money growth concept

จบไปแล้วสำหรับกิจกรรมดีๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ กับการจัดงาน “จาก Aged Society สู่ Happy Young Old” เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยเปิดเวทีพูดคุย แลกเปลี่ยน แนวคิดหลากหลายแง่มุมให้ผู้ที่เตรียมเกษียณหรือเกษียณแล้ว ได้เตรียมตัววางแผนสำหรับการใช้ชีวิตเกษียณอย่างมีความสุข กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้” เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยอย่างคุณภาพ

มีหลากมุมมองและหลายแนวคิดที่ “คุณนายพารวย” เห็นว่ามีประโยชน์ อยากนำมาถ่ายทอดต่อให้แฟนคอลัมน์ “รู้เก็บรู้ออมฯ” ได้อ่านกัน หัวข้อนึงที่น่าสนใจ คือ หลายคนมักคิดว่าตัวเองเตรียมเงินไว้ก่อนเกษียณเพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะบริหารเงินหลังเกษียณได้

ดร. เมธี จันทวิมล วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ  แนะเคล็ดลับวิธีบริหารจัดการเงินเพื่อเตรียมไว้หลังเกษียณดังนี้ 1. การประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ  ให้พิจารณาว่า มีรายรับ เช่น เงินเกษียณ เงินประกันสังคม เพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่ หรือสำรวจรายได้จากการลงทุน เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก หรือเงินปันผลจากการลงทุนอื่นๆ   2. นำเงินมาจัดสรรแบ่งใช้ตามช่วงเวลา  ปี 1-2 เป็นช่วงของเงินสำรองที่ใช้ในช่วงแรก ปีที่ 3-10 เป็นช่วงของการนำเงินมาลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสด และ หลังปีที่ 10 เป็นการวางแผนการเงินเพื่อดูแลสุขภาพ  และ 3. การทบทวนทรัพย์สิน ทรัพย์สินบางประเภทที่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะกลายเป็นค่าใช้จ่าย จึงควรจัดสรรอย่างเหมาะสมเพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะกรรมการ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า การวางแผนชีวิตเกษียณสุขนั้น คือการเตรียมพร้อมก่อนเสียชีวิต  ทรัพย์สินที่อาจเป็นภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต เราสามารถนำมาขายเป็นเงินและนำไปลงทุนอย่างระมัดระวังเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา

สำหรับการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณอย่างมีสุข คุณวศิน วัฒนวรกิจกุล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย แนะให้แบ่งเงินเก็บ เป็น 5 ก้อน คือ ก้อนแรก เอาไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณช่วง 1-2 ปีแรก , ก้อนที่ 2 ใช้จ่ายช่วงปีที่ 3-5 โดยอาจลงทุนในตราสารหนี้ , ก้อนที่ 3  เตรียมไว้ใช้จ่ายช่วงปีที่ 5-10 โดยลงทุนในหุ้น หรือสิ่งที่อาจมีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนระยะสั้น, ก้อนที่ 4 เตรียมไว้ใช้จ่ายช่วงปีที่ 11-20 ลงทุนสิ่งที่อาจมีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนระยะยาว  ก้อนที่ 5 เงินสำรองฉุกเฉิน เก็บไว้โดยไม่นำมาใช้หลังเกษียณ หรือใช้ในเรื่องฉุกเฉิน อาจเป็นการทำประกันต่างๆ 

คุณประสาน อิงคนันท์เจ้าของเพจมนุษย์ต่างวัย นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า นอกจากการมีสุขภาพและการเงินที่ดี ผู้สูงอายุต้องมีความรู้ ทัศนคติที่ดี และทำให้ชีวิตมีคุณค่า เคารพตัวเอง มีอิสระ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

โครงการ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้(ก็)มีใช้” แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้มีความมั่นคงทางการเงินและพร้อมใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างมีความสุข ผู้สนใจวางแผนการเงินหรือผู้ใกล้เกษียณ เข้าร่วมโครงการได้ ดูรายละเอียดสแกน QR Code ได้เลย

“คุณนายพารวย” มั่นใจว่า ผู้เข้าร่วมงานจะได้ประโยชน์ และนำไปวางแผนหรือปรับแผนการเงินของตัวเอง คนที่มีเวลาเหลืออีกนานกว่าจะเกษียณ ยิ่งลงมือทำเร็วก็ยิ่งดีกับตัวเอง ส่วนคนที่ใกล้เกษียณ ก็มีความพร้อมและมั่นใจในการรับมือกับชีวิตหลังเกษียณได้แน่นอน