หายตกใจเฟด นักลงทุนซื้อหุ้นกลับ ดันดัชนีดาวโจนส์ บวกกว่า 200 จุด

  • นักลงทุนซื้อหุ้นกลับหลังวานนี้ตื่นตระหนกเทขายร่วงกว่า 300 จุด
  • เริ่มมองข้ามสารจากประธานเฟด “พาเวลล์”ไม่ลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง
  • จับตาตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอ

เมื่อเวลาประมาณ 21.45 น. ตามเวลาไทย วันที่ 1 ส.ค. ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวอยู่ที่ 27,067.54 จุด บวกเพิ่มขึ้น203.27จุด 0.76% ตลาดปรับตัวขึ้น หลังลดลงแรงจากการถูกเทขายอย่างหนักกว่า 300 จุด เมื่อวานนี้ หลังจากที่นักลงทุนผิดหวังการแถลงของเฟดที่ไม่มีสัญญาณลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ด้านดัชนีแนสแด็กส์ คอมโพซิท บวกเพิ่มขึ้นแรงเช่นกัน โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 8,275.03 จุด เพิ่มขึ้น 99.61จุด หรือบวก 1.22% เช่นเดียวกับดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่เคลื่อนไหวในแดนบวกเช่นกัน โดยอยู่ที่ 3,003.02 จุด เพิ่มขึ้น 22.64 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.76%

ทั้งนี้ ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ไม่ได้ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟดเมื่อวานนี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสน้อยกว่า 60% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ย. ขณะที่คาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 100% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย.

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลกล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ของเฟดในครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการที่เฟดกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อปรับให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจ โดยนายพาวเวลไม่ได้ให้การรับประกันว่าเฟดจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเริ่มจับตามองภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มแสดงความอ่อนแอที่เพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุด การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 8,000 ราย สู่ระดับ 215,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 214,000 ราย

รวมทั้ง ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 51.2 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2559 จากระดับ 51.7 ในเดือนมิ.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.0

ขณะที่ข้อมูลของไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552 จากระดับ 50.6 ในเดือนมิ.ย.

ซึ่งตัวเลขเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของเฟดในระยะต่อไป