“หอการค้าไทย” จับตาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

  • ชี้ขาดเสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำขัด-ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
  • ระบุถ้าไม่ขัดมีหวังเห็น ครม.ใหม่ ไม่เกิน ก.ย.นี้
  • ถ้าขัดกว่าจะได้นายกฯ คงอีกยาว ลั่นยิ่งช้ายิ่งกระทบประเทศ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้พิจารณากรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และกำหนดวันนัดพิจารณาคำร้องในวันที่ 16 ส.ค.66 ว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญ และประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งศาลต้องใช้ดุลยพินิจและข้อมูลต่างๆ ประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ และมองว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาล และฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ยังอยู่ในช่วงเวลาที่เคยประเมินไว้ ยังไม่ล่าช้าจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำสั่งว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเห็นว่ารัฐสภาได้ดำเนินการโดยชอบแล้ว เชื่อว่า หลังจากนั้นรัฐสภาคงจะดำเนินการให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุดต่อไป โดยอาจเป็นวันที่ 17 – 18 ส.ค. ซึ่งจะทำให้อาจได้ ครม.ชุดใหม่ ช่วงปลายเดือนส.ค. ถึงกลางเดือนก.ย.ก่อนจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

“หากไทม์ไลน์ต่างๆ เป็นไปตามนี้ ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่คงจะต้องเร่งจัดทำงบประมาณประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อดึงกำลังซื้อและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะตรงกับไตรมาส 4 ที่เป็นฤดูการท่องเที่ยวของไทยที่หลายฝ่ายประเมินว่าจะเป็นจุดฟื้นของเศรษฐกิจในปีนี้”

แต่หากกรณีที่ศาลมีคำสั่งว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และมีข้อวินิจฉัยเพิ่มเติมไปในแนวทางดังกล่าว ก็คงต้องรอความชัดเจนว่า จะส่งผลให้การเลือกนายกรัฐมนตรีมีทิศทางอย่างไร และต้องใช้เวลานานเพียงใด ซึ่งต้องมาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง

สำหรับประเด็นที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้ยุติการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง ซึ่งอยู่ในระหว่างรวบรวมเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภานั้น หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ ก็น่าจะเร่งดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจได้ทันที เพราะพรรคเพื่อไทยเคยมีประสบการณ์ด้านบริหารประเทศมาก่อน และหลายนโยบายในสมัยที่เป็นรัฐบาล ก็สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จ ส่วนความเห็นต่างและการชุมนุมที่เกิดขึ้นถือเป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย หากไม่มีการชุมชนที่ยืดเยื้อหรือสถานการณ์ที่รุนแรง ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่กำลังเติบโตได้ดี และเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย

“สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในส่วนของภาคเอกชน ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็พร้อมทำงานร่วมกัน ที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องว่า สิ่งสำคัญ คือ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งล่าช้า จะยิ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศ”