“หมอทวีศิลป์”เผยเตรียมเร่งเยียวยาผู้ประกอบการ 6.9 แสนคนใน 6 จังหวัดถูกสั่งปิดกิจการ

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด 19) (ศบค.) กล่าวว่า การออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่25 เมื่อกลางดึกของคืนวันเสาร์ วันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามนโยบายที่ประชุมกันระหว่างผอ.ศปค. และผู้เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อจะออกให้เร็วที่สุด ซึ่งระเบียบต่างๆต้องใช้เวลาในการตรวจทาน เพื่อที่จะลดผลกระทบที่จะออกในคืนวันอาทิตย์ อย่างที่เคยออกเพื่อบังคับใช้วันจันทร์ อย่างไรก็ตามก็น้อมรับทุกเสียงที่ได้กล่าวมา เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด ตามมติ ตามคำสั่ง ที่เกิดขึ้น

“ข้อกำหนดที่ออกมามีผลบังคับใช้อย่างน้อย 30 วัน จะเน้นย้ำตามสาเหตุ เหตุใหญ่ๆ อยู่ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ สมทุรสาคร และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา รวมทั้งหมด 10 จังหวัด แบ่งเป็น 2 พื้นที่กิจการ กิจกรรมแตกต่างกัน”

โดยพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะประกาศเฉพาะส่วนที่ติดเชื้อ คือ กลุ่มของแรงงานก่อสร้าง ซึ่งต้องมีการตีความทางกฎหมายที่เกิดขึ้นหมายถึงอะไร ดังนั้นจึงต้องเอาทุกแคมป์ ทุกแรงงาน แก้กระทั่งกลุ่มรับเหมาที่กระจาย ซับคอนแทรค รวมอยู่ในนี้ รวมถึงอาคารขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก อาคารสาธารณะ ถนน รถไฟฟ้าที่ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการรายงานติดเชื้อเข้ามา จึงต้องออกมาตรการนี้ครอบคลุมทั้งหมด ที่สำคัญให้เขาอยู่กับที่ อยู่ในแคมป์ ไม่ให้ออกไปไหน ให้นายจ้างหรือผู้เป็นสถานประกอบการก่อสร้างดูแล เป็นการควบคุมเฉพาะจุด ไม่ได้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ

ส่วนกลุ่มของสถานประกอบการโรงงานก็ไม่ได้ให้ปิด ให้ทำงาน เป็นการควบคุมแบบ Bubble and Seal ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกสถานที่

ทั้งนี้การมีสถานที่รับประทานอาหาร ให้เป็นซื้อกลับบ้าน ทานนอกร้านอาหารนั้นๆ ห้างยังเปิดได้ปิด 21.00 น. โรงแรมให้งดจัดงานประชุมสัมนา ส่วนกิจกรรมอื่นสังสรรค์มากกว่า 20 คนไม่ได้ ยกเว้นได้รับอนุญาต

ส่วนทุกๆจังหวัด ให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กวดขันการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการเข้าไปตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่ได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ส่วนการคมนาคมเดินทางเข้าออกในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ต้องมีการตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวดให้ผ่านได้เฉพาะแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเพื่อการทำงานข้ามจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทาง

“เมื่อสายวันนี้ ทางผอ.ศบค. มีประชุมคณะกรรมการศบศ.หารือเมื่อออกข้อกำหนด กระทบกับใครให้นำกลุ่มนั้นมาเยียวยา ที่พูดคุยกันคือผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการใน 6 จังหวัด มีจำนวนถึง 697,315 คน ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลัง ผู้อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับการเยียวยาเลย เพราะลงทะเบียนไว้แล้ว จะได้รับการเยียวยา เช่น ได้รับ 50% ของรายได้ อย่างแรงงานให้หยุดต้องหยุดอยู่ในแคมป์ จะจ่ายให้ 50%ของค่าแรง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โดยเฉพาะถ้าเป็นคนไทย สัญชาติไทย รัฐจะเพิ่มให้อีก 2,000 บาท ถ้าไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ไปลงทะเบียนภายในระยะเวลา 1 เดือนก็จะได้ ถ้าไม่ขึ้นทะเบียนให้ไปขึ้นในแอปถุงเงิน”

ส่วนประเด็นกรณีร้านอาหารที่เตรียมวัตถุดิบมาปิด ก็สามารถซื้อกลับบ้านได้ คนอยู่ในแคมป์ยังต้องการอาหาร ขอให้สมาคมร้านอาหาร และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้าง ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ใช้บริการ เช่น ร้านอาหาร ร้านแผงลอยต่างๆ จัดอาหารให้แรงงานก่อสร้างอยู่ในไซต์งาน เพื่ออยู่เฉยๆรอรับเงินที่กระทรวงแรงงานจ่ายให้

นอกจากนี้นายแพทย์ทวีศิลป์ได้ตอบคำถามกรณีมาตรการคุมแรงงานก่อสร้างหมายถึงโครงการใหญ่หรือการรีโนเวตบ้าน ตกแต่ง ห้าง อาคารบ้านเรื่อนต่างๆ ต้องหยุดการก่อสร้างด้วยหรือไม่ เพราะไม่อยู่ในแคมป์คนงาน โดยนายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า ตามเจตนาของกฎหมายคงไม่สามารถแจกแจงได้ว่าเป็นกลุ่มไหน แรงงานล้วนเป็นความเสี่ยง มีการเคลื่อนย้ายอยู่เรื่อยๆถ้ายังมีการทำงานอยู่ เป็นแหล่งกระจายเชื้อโรค ทางศบค.เน้นย้ำว่าเป็นกลุ่มเดียวกันที่ไปมาหาสื่อกัน ตรงนี้สื่อความหมายว่าเป็นทุกส่วนทั้งแรงงานไทย และต่างด้าวให้หยุดพักกัน อย่างน้อย 30 วัน