ส่งออกพ.ค.โกยรายได้เข้าประเทศถล่มทลาย!

.มูลค่าทะลุ 2.3 หมื่นล้านเหรียญฯ ขยายตัว 41.59%

.โตสูงสุดรอบ 11 เดือนรับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้น

.”จุรินทร์” ย้ำอาหารไทยปลอดโควิด-ผู้ซื้อยังมั่นใจ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือนพ.ค.64 การส่งออก มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 41.59% จากเดือนพ.ค.63 ที่มีมูลค่าเพียง 16,284 ล้านเหรียญฯ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี คิดเป็นเงินบาท 714,885.27 ล้านบาท เพิ่ม 36.22% หากหักมูลค่าส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ที่มีความผันผวนด้านราคาออก จะขยายตัวมากถึง 45.87% ส่วนการนำเข้า  22,261.96 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 63.54% คิดเป็นเงินบาท 699,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.50% เกินดุลการค้า 795.95 ล้านเหรียญฯ หรือ 14,967 ล้านบาท 

ส่วนช่วง5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปีนี้ มูลค่าส่งออกรวม 108,635.22 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 10.78% จากช่วงเดียวกันของปี 63 ที่มีมูลค่า 98,063 ล้านเหรียญฯ หากหักมูลค่าส่งออกน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยออก เพิ่มขึ้นถึง 17.13% คิดเป็นเงินบาท 3.279 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.64% ส่วนการนำเข้า 107,141.12 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 21.52% คิดเป็นเงินบาท 3.280 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.27% เกินดุลการค้า 1,494.10 ล้านเหรียญฯ แต่คิดเป็นเงินขาดดุล 600 ล้านบาท 

“ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกดีขึ้น มาจากเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าสำคัญ เริ่มฟื้น เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น และยังได้รับผลดีจากแผนการขับเคลื่อนการส่งออก ที่กระทรวงทำงานร่วมกันใกล้ชิดกับภาคเอกชน และจะทำอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทำให้แก้ปัญหาอุปสรรคได้รวดเร็ว ทันท่วงที อีกทั้งยังได้จัดทำแผนเชิงรุกร่วมกัน โดยมีเป้าหมายชัดเจนมาแต่ต้นปี ทำให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้ ค่อยเป็นบวกขึ้นตามลำดับ” 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า แผนการทำงานต่อไป จะยังคงดำเนินการภายใต้ กรอ.พาณิชย์ (คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กระทรวงพาณิชย์) ประกอบด้วย การเร่งรัดเปิดตลาดใหม่ ทะเวตะวันออกกลาง รัสเซียและเครือรัฐเอกราช เอเชียใต้ และแอฟริกา , เร่งรัดการค้าชายแดนและผ่านแดน, ส่งเสริมการส่งออกและการเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์, เร่งทำมินิเอฟทีเอกับเมืองเป้าหมาย ได้แก่ มณฑลไหหนาน (ไหหลำ) จีน, รัฐเตลังกานา อินเดีย, เมืองคยองกี เกาหลีใต้ และเมืองโคฟุ ญี่ปุ่น โดยคาดว่า น่าจะมีการลงนามระหว่างกันได้ช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.24 และจะเร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพส่งออกรุ่นใหม่ เพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศ  

“เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ขยายตัว 4% จากปี 63 น่าจะทำได้ดีกว่านี้ เพราะตัวเลข 5 เดือนทำได้แล้ว 10.78% จากนี้ไป การส่งออกจะเป็นพระเอกขับเคลื่อนจีเศรษฐกิจได้อยู่ ยกเว้นมีวิกฤตอะไรมากระทบไทยมากๆ หรือกระทบไปทั้งโลก ซึ่งนอกเหนือการคาดการณ์ แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด และจับมือเอกชนทำงานใกล้ชิด ทั้งการแก้ไขปัญหาส่งออก และจัดกิจกรรมส่งออก” 

นายจุรินทร์ กล่าวต่อถึงกรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในไทย โดยเฉพาะผลิตอาหาร พบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ว่า จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการนำเข้าสินค้าจากไทยแน่นอน เพราะลูกค้าทั่วโลกยังมั่นใจสินค้าไทย ทั้งในด้านความปลอดภัย คุณภาพ มาตรฐาน การปลอดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้เดียวกัน 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันออกใบรับรองอาหารไทยปลอดโควิดให้กับโรงงานต่างๆ เพื่อนำไปแสดงให้กับลูกค้า และสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้น