สศช.ชี้ส่งออกป่วนกระทบจ้างงานคนไทย 5.1 ล้านคน ภัยแล้งกระหน่ำจ้างงานภาคเกษตรลด

  • หนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส
  • สินเชื่อบัตรเครดิตที่ค้างชำระเกิน 3 เดือนขยายตัว
  • คนไทยเสียชีวิตบนท้องถนนอันดับ 9 ของโลก สูญเสีย 5 แสนล้านบาทต่อปี

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2562 พบว่า จำนวนผู้มีงานทำ 37.8 ล้านคน การจ้างงานลดลง 0.3% โดยสถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบถึงกิจกรรมภาคเกษตรและรายได้ในระยะต่อไป โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรลดลงต่อเนื่อง 4% ทั้งจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อกิจกรรมการเกษตร ขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรที่มีการจ้างงานลดลงล้วนเป็นสาขาที่สอดคล้องกับการส่งออกหดตัว เช่น สาขาค้าส่ง ค้าปลีก ลดลง 0.4% และสาขาการผลิต ลดลง 0.5% ส่วนสาขาท่องเที่ยวกลับมาสู่ปกติแล้ว ขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 0.98% ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม มีแรงงานรอฤดูกาล 263,000 คน เพิ่มขึ้น 40.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมาจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้แรงงานภาคเกษตรไม่สามารถประกอบอาชีพได้เต็มที่

“สาขาส่งออกที่หดตัวมากในครึ่งปีแรก ได้แก่ สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล สินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรและชิ้นส่วน รถยนต์นั่ง เครื่องจักรอุปกรร์ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะกระทบแรงงาน 5.1 ล้านคน แต่จากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวเศรษฐกิจ คงจะกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศได้”

ขณะเดียวกัน ต้องเตรียมพร้อมรองรับธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การบริการจัดส่งสินค้าด่วนถึงที่ ไม่ว่าจะเป็น ไลน์แมน แกร๊บ ฟู้ดแพนด้า เก็ต และสกูต้าร์ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของการขนส่ง เฉพาะในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นถึง 7.2% ในขณะที่ภาครัฐยังไม่มีกฏระเบียบควบคุมดูแลให้ครอบคลุมการจ้างงานในประเภทใหม่ๆ เพื่อให้การทำงานภายใต้การจ้างงานที่ผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์ได้รับการคุ้มครองเหมือนแรงงานทั่วไป

นายทศพร กล่าวต่อไป ยังได้กล่าวถึงข้อมูลหนี้สินครัวเรือน ซึ่งข้อมูลที่มีล่าสุดยังเป็นข้อมูลจากไตรมาส 1/2562 มีเท่ากับ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 6.3% คิดเป็น 78.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2560 โดยปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2560 เป็นต้นมา โดยไทยเป็นอับดับที่ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก หากเทียบในเอเชีย ไทยเป็นอันดับที่ 2 จาก 22 ประเทศ ขณะที่ไตรมาสสองของปีนี้มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพิ่มการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นในระดับสูง 9.2% โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ขยายตัว 11.3% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2558 เป็นต้นมา ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ขยายตัว 7.8% และ 10.2% ชะลอลงจาก 9.1% และ 11.4% ในไตรมาสก่อนตามลำดับ

“ในภาพรวมสินเชื่อด้วยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล เพื่อการอุปโภคในไตรมาส 2/2562 มีมูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 2.74% ของสินเชื่อรวม และ 2.75%ต่อเอ็นพีแอลรวม โดยยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง 32.3% และ 12.5% ตามลำดับ เช่นเดียวกับสินเชื่อบุคคลที่ยังอยู่ในระดับสูงและสินเชื่อบัตรเครดิตที่ยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปกลับมาขยายตัวอีกครั้ง”

สำหรับแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 คาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการลดลงและความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ แต่คุรภาพสินเชื่อมีแนวโน้มด้อยคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากก่อนมีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อศัย (LTV) ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อในลักษณะผ่อนปรนและให้สินเชื่อในวงเงินสุงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้ผู้กู้ได้เงินสดกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น

ด้านนางชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนโลกปี 2561 โดยองค์กรอนามัยโลก ระบุผู้เสียชีวิตจากภัยบนท้องถนนของไทยอยู่อันดับที่ 9 ของโลก มีผู้เสียชรวิต 22,491 ราย คิดเป็น 32.7 คน ต่อประชากรแสนคน แม้จะมีแนวโน้มลดลงจากปี 2559 แต่ไทยยังเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปีสูงที่สุด จำนวน 4,436 ราย โดยเพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิง 3.8 เท่า และจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุถมากที่สุด 40,306 ราย หรือ 39.6% และ 50% เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาท ที่สำคัญอุบัติเหตุทางถนนก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 6% ของจีดีพี ซึ่งการแก้ไขต้องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนให้ได้ระดับ 3 ดาวตามแนวทางสากล ยังคับใช้กฎหมายจริงจัง นำเทคโนโลยีเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนมาใช้