สบน.ผนึก ธ.ก.ส.-กคช. ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนครั้งแรกของไทย รวม 42,800 ล้านบาท

สบน.ผนึก ธ.ก.ส.-กคช. ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนครั้งแรกของไทย รวม 42,800 ล้านบาท

  • เริ่มเปิดขายเริ่ม ส.ค.นี้ 
  • ปล่อยสินเชื่อให้รฟม.สร้างรถฟ้าสายสีส้ม 
  • ช่วยเยียวยา-ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19  

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.เตรียมออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะมีทั้งพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรเพื่อสังคม เป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทย ร่วมกับรัฐวิสาหกิจอีก 2 แห่งคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.)   

ทั้งนี้ในส่วนของ สบน.จะออกพันธบัตรฯ อายุ 15 ปี วงเงินไม่เกิน  30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ปล่อยสินเชื่อต่อให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) จำนวน 10,000 ล้านบาท 2.ระดมทุนภายใต้ พระราชบัญญัติ(พ.ร.ก.) แก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 20,000 ล้านบาท     

อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นการจำหน่ายให้กับนักลงทุนประเภทสถาบันการเงิน  การกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงขึ้นอยู่กับข้อเสนอของนักลงทุน โดยทั้งหมดจะมอบให้ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุศรีอยุธยา และธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ (ไทย) เป็นผู้จัดจำหน่ายในเดือน ส.ค.2563  ซึ่งการออกพันธบัตรของ ธ.ก.ส.และกคช.นั้น กระทรวงการคลังไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันฯให้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งมีเครดิตมากพอที่นักลงทุนจะเกิดความเชื่อมั่นได้ด้วยตัวเอง” 

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.มีแผนจะออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (กรีนบอนด์) ในช่วงปี 2563-2567 รวม 20,000 ล้านบาท โดยในปี 2563 กำหนดออกกรีนบอนด์ก่อน 6,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการสร้างพื้นที่ป่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการสินเชื่อปลูกป่าสร้างรายได้ สินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน สินเชื่อ Green Credit สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย และสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด เสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันเช่นกัน แต่ไม่เกิน 10 ราย 

สำหรับเป้าหมายและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ ทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 500,000 ไร่ ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านต้น สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมูลค่ารวมของต้นไม้ 400,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 38,000 ครัวเรือน และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 155,000 ราย 

ด้านนายวิญญา สิงห์อินทร รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า กคช.จะออกพันธบัตรเพื่อสังคม อายุ 10 ปี จำนวน  6,800 ล้านบาท โดยนำไปใช้เพื่อการพัฒนาโครงการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน รวมถึงปล่อยสินเชื่อใหม่และเปิดให้ลูกค้าได้ทำการรีไฟแนนซ์  โดยจะเปิดขายให้กับนักลงทุนประเภทสถาบันเช่นเดียวกัน คาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นอยู่ระหว่าง 1.7-1.8% ต่อปี  

ขณะที่นายฮิเดกิ  อิวาซากิ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนเอดีบี กล่าวว่า เอดีบีพร้อมให้การสนับสนุนการออกพันธบัตรในลักษณะดังกล่าวเนื่องจากเป็นกระแสที่รัฐบาลทั่วโลกดำเนินการมาตลอด อย่างไรก็ตามเอดีบีกำลังพัฒนายุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระดับประเทศฉบับใหม่กับไทย โดยการสนับสนุนทางวิชาการและทางการเงิน โดยเรื่องนี้จะยังคงเป็นเสาหลักสำคัญของยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ของไทย