สนพ. จ่ออัดยาแรงผู้ค้า หากยังควบคุมค่าการตลาดน้ำมันเบนซินไม่ได้

พลังงาน ขอความร่วมมือผู้ค้าควบคุมค่าการตลาดน้ำมันเบนซินให้ได้ ลั่นเตรียมประสานกระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการด้านกฎหมายคุมหากจำเป็น

  • ย้ำผู้ค้าควรรักษาระดับค่าการตลาดให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม
  • เผย ก.พลังงานขอความร่วมมือไม่ให้ค่าการตลาดน้ำมันเบนซินสูงเกินกว่า 2 บาท ล่าสุดอยู่ 4.8 บาท
  • ลั่นหากยังไม่ร่วมมือ จะประสานพาณิชย์ใช้มาตรการเข้ากำกับดูแล

วันนี้ (22 พ.ย.66) นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าหลังจากที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับค่าการตลาดน้ำมันเบนซินของผู้ค้าที่สูงกว่าที่กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ให้ปรับลดราคาขายปลีกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และได้มีการศึกษามาแล้วว่า ถึงแม้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจาก ค่าแรงค่าเช่า อัตราภาษีที่ดิน ตลอดจนค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น ผู้ค้ายังควรต้องรักษาระดับค่าการตลาดให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้บริโภค

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์การปรับขึ้น-ลงค่าการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางช่วงก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2 บาท แต่ในบางช่วงก็อยู่ในระดับที่สูงกว่า 2 บาท พบว่า ค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน มีค่าสูงเกินค่าที่เหมาะสมมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด 4.8 บาทต่อลิตร และกระทรวงพลังงานได้ขอให้ผู้ค้าให้ความร่วมมือไม่ให้ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินในภาพรวมสูงเกินกว่า 2 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านราคาน้ำมันให้แก่ประชาชน

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็น กระทรวงพลังงานจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการด้านกฎหมายในการเข้ากำกับดูแลทั้งนี้ ค่าการตลาดคือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

“ขณะนี้ได้ขอให้ผู้ค้าน้ำมันทุกรายควบคุมค่าการตลาดน้ำมันเบนซินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรมกับทั้งผู้ค้าน้ำมันและประชาชนผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ค้าน้ำมันจะมีการปรับขึ้น-ลงค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทุกชนิด ซึ่งบางช่วงก็ต่ำกว่า 2 บาท และบางช่วงก็สูงกว่า 2 บาท แต่ในช่วงนี้ ค่าการตลาดสูงเกินไป ถึงแม้ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน แต่อยากให้ผู้ค้าน้ำมันคำนึงถึงประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันในช่วงนี้ ดังนั้นหากยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมัน อาจจำเป็นต้องประสานกับกระทรวงพาณิชย์ในการใช้มาตรการด้านกฎหมายเข้ากำกับดูแล ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะสร้างสมดุลด้านราคา โดยเฉพาะค่าการตลาด ระหว่างผู้ค้าน้ำมันกับผู้บริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเป็นไปตามข้อกฎหมาย แต่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ” นายวัฒนพงษ์ กล่าว