สนค.แนะผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิลลุยตลาดโลก

  • หลังแบรนด์ชั้นนำหลายประเทศเริ่มผลิต ส่งออกแล้ว
  • ดันมูลค่าตลาดปี 65 เฉียด 6 ล้านเหรียญฯคาดเพิ่มต่อเนื่อง
  • แต่ต้องผลิตให้ได้มาตรฐานสิ่งทอรีไซเคิลที่ทั่วโลกยอมรับ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริษัทเสื้อผ้าชั้นนำ เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ส่งผลให้ผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลเพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐฯ แบรนด์ Patagonia ผลิตเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง มีเสื้อผ้า 70% ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล, สวีเดน แบรนด์ H&M และญี่ปุ่น แบรนด์ UNIQLO รับเสื้อผ้าที่ใช้แล้วไปรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาเป็นวัตถุดิบผลิตเสื้อผ้าใหม่ เป็นต้น โดยตลาดเสื้อผ้าจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลโลก มีมูลค่า 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 และคาดในอีก 10 ปี หรือปี 2575 จะเติบโต 10.7% หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 16,000 ล้านเหรียญฯ

สำหรับไทย คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดเสื้อผ้าจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลปี 2575 จะอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท หรือประมาณ 0.5% ของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าทั้งหมดของไทย ซึ่งปัจจุบัน ผู้ประกอบการหลายรายหันมาผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลกันแล้ว เช่น แบรนด์ Circular นำเศษผ้าและเสื้อผ้าเก่าไปแปลงสภาพเป็นสิ่งทอรีไซเคิลแล้วนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ เพื่อขายทั้งในประเทศและส่งออก รวมถึงแบรนด์ Moreloop ที่เป็นสตาร์ทอัพ ได้นำผ้าที่เหลือจากกระบวนการผลิตของโรงงานเสื้อผ้า มาผลิตเป็นเสื้อผ้าและกระเป๋า อีกทั้งยังสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างโรงงานที่ต้องการขายผ้าเหลือ และผู้ซื้อด้วย

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการไทย ต้องการส่งออกสิ่งทอรีไซเคิล ต้องจัดทำมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นแบบสมัครใจ เช่น Global Recycle Standard (มาตรฐานระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองจากองค์กรด้านสิ่งทอในต่างประเทศ), OEKO-TEX® Standard 100 คือ การทดสอบมาตรฐานสินค้าระดับสากลของสถาบันทดสอบสิ่งทอ ในกระบวนการผลิตและการประกันคุณภาพสินค้า ขณะเดียวกันต้องศึกษา ทำความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าด้วย เช่น สหภาพยุโรป มีฉลากสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร มีฉลากชนิดเส้นใยและอัตราส่วนผสม

“ตลาดเสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล นับเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่น่าจับตามอง เพราะผู้บริโภคมีความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงควรสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องการส่งเสริมองค์ความรู้และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิล นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการรับรองมาตรฐานสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขยายช่องทางการตลาดระดับโลก”