สธ. ยัน! “โอไมครอน”ยังไม่หลุดเข้าไทย สุ่มตรวจหาสายพันธุ์ต่อเนื่อง ทั้ง “คน-ศพ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ ประเทศมาเลเซียพบการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ในนักศึกษาที่เดินทางกลับจากแอฟริกาใต้ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้ติดเชื้อรายดังกล่าวผ่านการกักตัวแล้ว แต่ตรวจพบโอไมครอน จากการเรียกกลับมาตรวจหาสายพันธุ์ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าจะหลุดรอดเข้ามาในไทยแล้วหรือไม่

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 12 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โควิดต่อเนื่อง

การเฝ้าระวังในส่วนของเขตสุขภาพ 12 ที่ประกอบด้วย สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีระบบการตรวจหาเชื้อและส่งไปถอดรหัสพันธุกรรมหาสายพันธุ์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา จะสุ่มตรวจใน 4 กรณี คือ 1.หากพบการลักลอบเข้ามาแล้วติดเชื้อ 2.สุ่มจากการติดเชื้อในคลัสเตอร์ชุมชน 3.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และ 4.ตรวจหาสายพันธุ์จากผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิต โดยที่ผ่านมาเราส่งตรวจหาสายพันธุ์ประมาณ 1,000 ตัวอย่างต่อเดือน

“ที่ด่านข้ามแดนมีการระวังมากขึ้น ตั้งแต่มี ศบค.ส่วนหน้า ก็มีทหารมาช่วยที่ด่านมากขึ้น เราห่วงที่ลักลอบเข้ามามากกว่า” นพ.สุเทพ กล่าวและว่า อย่างที่เราเคยพบเบต้า ที่ ต.เกาะสะท้อน จ.นราธิวาส เราเจอก็ทำมาตรการทันที ถือว่าเราตรวจจับได้ค่อนข้างเร็ว

นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่พบโอไมครอนในจังหวัดภาคใต้ แต่เราไม่อยากให้ตื่นตระหนก เนื่องจากเรามีทรัพยากรเพียงพอในการตรวจหาเชื้อ มีมาตรการรองรับหากพบโอไมครอน เราต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องตรวจ RT-PCR เท่านั้น และกักตัวอย่างน้อย 14 วัน

แม้ยังไม่พบโอไมครอน แต่เราต้องเฝ้าระวังมาก ทุกคนทำเต็มที่ ซึ่งที่ป้องกันยากสุดคือชายแดน แม้วางกำลังขนาดไหนก็ไม่ 100% เมื่อมาเลเซียพบ ก็มีโอกาสหลุดเข้ามา แต่เรามีระบบสุ่มตรวจหาสายพันธุ์ รวมถึงประชาชนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ดูว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่หรือไม่

นพ.สุเทพ กล่าวว่า สถานะการติดเชื้อในภาคใต้ขณะนี้ดีขึ้น ภาพรวมทั้งเขตฯ พบรายใหม่ไม่ถึงพันรายต่อวัน ขณะที่ พัทลุงกับตรัง ยังพบสูงเฉลี่ยวันละเกือบร้อยราย ส่วนนราธิวาส ลดเหลือวันละ 30-40 ราย แต่สงขลายังพบวันละ 300 กว่าราย