“ศักดิ์สยาม”ไฟเขียวจัดทำ Roadmap“แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน -ร่างนโยบายการบินพลเรือนของประเทศ”ฉบับแรกของประเทศ หวังคุ้มครองสิทธิผู้โดยสาร ภาคอุตสาหกรรมการบินหลังโควิดซบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.)ว่า ที่ประชุม กบร.มีมติรับร่าง Roadmap แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน ปี 65-68 และร่างนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่สำคัญอย่างมากต่อการช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน และเศรษฐกิจของไทย ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน และให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลได้ ซึ่งจะดำเนินการจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริงต่อไป ถือเป็นนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศที่เป็นรูปธรรมฉบับแรกของประเทศไทยที่จะเข้ามาดูแลคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการในภาคอุตสาหกรรมการบิน และนโยบายเกี่ยวกับการใช้ห้วงอากาศที่ใช้ในการเดินอากาศของประเทศไทย 

สำหรับสาเหตุที่ต้องมีแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินระหว่างปี 65-68 นั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ทำให้อุตสาหกรรมการบินของของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยในปี 63 มีผู้โดยสารลดลงจากปี 62 ถึง  64.7% และปริมาณเที่ยวบินทั้งหมดลดลง  53.1% ต่อเนื่องปี 64 มีจำนวนผู้โดยสารลดลงจากปีก่อนหน้าถึง  64.1 %และปริมาณเที่ยวบินทั้งหมดลดลง  48.5% ส่งผลให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมการบินลดลง  20.88 %และรายรับในการประกอบการการบินลดลงมากถึง 70.96% 

อย่างไรก็ตามในช่วงการระบาด หน่วยงานด้านการบินได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่ 1. มาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น การปรับลดค่าบริการการบินของสนามบินและบริการการเดินอากาศ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Terms) 2. มาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบข้อบังคับ เช่น การยกเว้นมาตรการและแนวทางปฏิบัติในการขนส่งสินค้าภายในห้องโดยสาร  การขยายระยะเวลาการมีผลใช้ได้ของใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ต่างๆ เป็นต้น

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ศึกษาและจัดทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมและปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน ปี 65-68 โดยกรอบแนวคิดและแผนปฏิบัติของแผนฯ มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการบินสามารถ “อยู่รอด เข้มแข็ง และยั่งยืน”โดยในปี 65 มีเป้าหมายระยะ Quick-win ตามมาตรการ “อยู่รอด” คือ อุตสาหกรรมการบินมีความพร้อมสำหรับการเปิดทำการบินอย่างเต็มรูปแบบภายในปี  65 มีเป้าหมาย เช่น ผู้ประกอบการการบินสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในช่วงที่ยังคงมีการระบาด โดยมีกลยุทธ์ในการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวก พัฒนาความร่วมมือขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน         เพื่อกระตุ้นความต้องการในการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ ไปพร้อมกับการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ประกอบการ เพื่อให้ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน

สำหรับปี 66- 68 เป็นเป้าหมายระยะกลางตามมาตรการ “เข้มแข็ง และ ยั่งยืน” คือ ประเทศไทยมีความพร้อมของอุตสาหกรรมการบินที่จะรองรับการจราจรทางอากาศเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติหรือเทียบเท่ากับปี 62 ในปี 68 ที่มีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 165 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบิน 1.07 ล้านเที่ยวบิน โดยมีเป้าหมาย เช่น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยระบบกำกับดูแลทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการเดินทางแบบ New Normal ในอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน โดยการพัฒนาสถาบันฝึกอบรมให้เป็นที่ยอมรับ รวทั้งยกระดับมาตรฐานใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ของไทยให้ทัดเทียมสากล เป็นต้น ทั้งนี้ กพท.จะดำเนินการส่งร่างฯ ให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็น ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. การเดินอากาศฯ) ในมาตรา 15 ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของ กบร.  ในการกำหนดนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ ซึ่งนโยบายนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการในภาคอุตสาหกรรมการบิน และนโยบายเกี่ยวกับการใช้ห้วงอากาศที่ใช้ในการเดินอากาศของประเทศไทย 

นอกจากนี้ยัง ได้สั่งการให้ กพท. หารือร่วมกับสนามบิน สายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับจำนวนผู้โดยสารทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการการผ่อนคลายการเข้าประเทศของรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา และช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่มีความต้องการเดินทางทางอากาศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากสถิติผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก IATA คาดการณ์ว่าภายในปี  65 ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 22 ล้านคน และจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการด้านการบินอาจกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในปี 68