“วิษณุ” ชี้สภาล่ม ไม่ควรโทษฝ่ายค้าน เป็นหน้าที่รัฐบาลในการรักษาองค์ประชุม

  • เผยเห็นด้วยไม่ควรตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ม.44 เพราะเหลือไม่กี่ฉบับ
  • ชี้สามารถส่งต่อไปยังกรรมาธิการที่รับผิดชอบเรื่องโดยตรงได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานของกรรมาธิการในแต่ละคณะของสภาผู้แทนราษฏร ว่า ทุกคณะต้องทำงานให้สภาฯ เพื่อกลั่นกรองงานให้กับทางสภา ส่วนการเสนอญัตติต้องให้เสร็จไปเป็นเรื่อง ๆ ในระหว่างมีญัตติห้ามเสนอญัตติอื่นเพิ่มเข้ามา ไม่เช่นนั้นจะทำให้ญัตติอื่นตกไปทันทีตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ดังนั้น ส.ส.ต้องคุยทำความเข้าใจกัน ถ้าจะยกการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่ง คสช.และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ก็ต้องตกไป

เมื่อถามว่า การเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ และควรทำก่อนหน้านี้แล้ว แต่มีญัตติที่อยู่ในวาระการพิจารณายาว และมีญัตติเรื่องปากท้องที่สำคัญหลายเรื่อง จึงถูกนำมาพิจารณาก่อน และเวลานี้ถือว่าเหมาะสมในการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะแก้อะไรบ้าง ไม่ทราบ เพราะเวลานี้ยังแก้กันคนละเรื่อง ถ้าให้รัฐบาลคิด ก็คิดได้ แต่คงไม่ตรงกับที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่คิด เมื่อแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน ก็ต้องไปหารือกันในคณะกรรมาธิการ

ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุการณ์สภาล่ม 2 ครั้งติดกัน จะทำให้เกิดปัญหาเมื่อรัฐบาลต้องการเสนอกฏหมายอื่น ๆ จะเป็นปัญหาต่อไปหรือไม่  นายวิษณุ กล่าวว่า สมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี พูดเสมอไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย หน้าที่รักษาองค์ประชุมให้ครบเป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องทำให้ครบ ฝ่ายค้านจะเดินออก หรือเดินเข้า ถือเป็นสิทธิ์หน้าที่ของเขา แต่การรักษาองค์ประชุมเป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่ต้องโทษใคร

เมื่อถามว่า การที่สภาล่ม เป็นข้อบกพร่องของรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขอตอบในจังหวะนี้ เพราะการที่หยิบยกคำพูดของนายชวน ขึ้นมา เพราะตนเห็นด้วยกับความเห็นนี้ 

“เรื่องเสียงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่บางคนอาจไม่คิดว่าเป็นหน้าที่แล้วไปโทษฝ่ายนั้นฝ่ายนี้” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า ต้องมีคนแสดงความผิดชอบในเรื่องนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่เรื่อง หากเป็นเรื่องใหญ่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากกว่านี้ เช่น เรื่องการเสนอกฏหมาย จะต้องรับผิดชอบ แต่นี่เป็นเรื่องการเสนอญัตติธรรมดาและเป็นญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่ง คสช.และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44  ของฝ่ายค้าน  นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องมาตรา 44 ที่ต้องศึกษาเหลือเพียงไม่กี่ฉบับและที่เห็นว่าไม่ควรตั้งกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ เพราะเรื่องที่เหลือสามารถส่งไปที่กรรมาธิการสามัญพิจรณาได้ แต่ละคณะยกขึ้นมาพิจารณาเป็นรายฉบับจะได้ผลดีกว่า เช่น เรื่องเกี่ยวกับไอยูยู ก็สามาถส่งให้คณะกรรมาธิการแรงงานได้ ซึ่งจะพูดได้ลึกกว่าดีกว่าจะมาพูดในกรรมาธิการวิสามัญชชุดนี้ชุดเดียว และส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการตั้งกรรมาธิกาวิสามัญศีกษาผลกระทบตามมาตรา 44

เมื่อถามว่า ที่ไม่ให้มีการตั้งกรรมธิการชุดนี้เพราะไม่ต้องการให้เรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปชี้แจงใช่หรือไม่  นายวิษณุ กล่าวว่า จะเรียกก็ไม่เป็นไร กรรมาธิการชุดดไหนก็เรียกได้

“เรื่องของมาตรา 44 สะสางไปหลายฉบับ เกือบจะหมดแล้ว คำสั่ง คสช.เหลือไม่กี่ฉบับที่บางฉบับเหลืออยู่ เพราะไปแก้พระราชบัญญัติบางฉบับ เพราะหากแก้ทันที จะเกิดผลกระทบจากช่องว่างของกฏหมายจะกระทบกับพระราชบัญญัติทั้งฉบับ แต่บางฉบับก็หมดไปกับ คสช. เมื่อ คสช.หมดไป กฏหมายก็ตายโดยอัตโนมัติ”