ยกญี่ปุ่นเป็นต้นแบบพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟ นำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาสร้างทางด่วนในไทย

“ศักดิ์สยาม”ยกคณะผู้บริหารคมนาคม บุกญี่ปุ่น ลุยดูโครงการพัฒนาเมืองและพื้นที่รอบสถานีระบบราง  หวังเป็นต้นแบบให้ เอสอาร์ที แอสเสท พัฒนาที่ดินรถไฟ พร้อมชมศูนย์ควบคุมจราจร และ อุโมงค์ทางด่วน หวังนำนวัตกรรมใหม่ๆมายกระดับทางด่วนให้ ทางหลวง  ทางหลวงชนบท และการทางพิเศษฯของไทย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีกับ Mr. Nakajima Masahiro ประธานองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (Urban Renaissance Agency: UR) และเยี่ยมชมการพัฒนาโครงการ Minato Mirai (MM21)   ณ  เมืองโยโกฮาม่าประเทศญี่ปุ่น ว่า การเข้าร่วมประชุมหารือทวิภาคีในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง UR กับหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRT Asset)  เพื่อมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์กว่า 2,325 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน UR ร่วมกับ บริษัท SRT Asset ได้อยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาพื้นที่นำร่องโครงการ วิสัยทัศน์การพัฒนาโครงการ และโครงสร้างหน่วยงานที่เหมาะสมสำหรับการบริหารพื้นที่รอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในระยะยาว 

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ขอให้ องค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น หรือ UR พิจารณาสนับสนุนการศึกษาแผนแม่บทของโครงการ (Master Plan) รวมถึงรายละเอียดของแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนเป็นรูปธรรม รวมถึงการสนับสนุนการประชาสัมพันธ์การพัฒนาโครงการ และการจัดทำแผนเพื่อกระตุ้นการลงทุนเพื่อดึงดูดภาคธุรกิจโดยเฉพาะนักลงทุนที่มีศักยภาพจากประเทศญี่ปุ่นด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นตน และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมโครงการพัฒนาเมืองมินาโตะ มิไร (Minato Mirai (MM21) ซึ่งโครงการดังกล่าว เชื่อมโยงท่าเรือและย่านอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน และแบ่งเบาความหนาแน่นของตัวมหานครโตเกียวมาสู่ปริมณฑลใกล้เคียง ประกอบกับโครงการฯ ดังกล่าวมีการวางรูปแบบผังเมืองที่เป็นสัดส่วนและเป็นระบบ ทำให้ปัจจุบันได้พัฒนากลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานธุรกิจชั้นนำ แหล่งที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมระดับสูง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาทิ พื้นที่เชิงพาณิชย์ ศูนย์กลางการค้าของเมืองโยโกฮาม่า  ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟโดยตรง 

อย่างไรก็ตามในการเยี่ยมชมโครงการ “มินาโตะ มิไร” ครั้งนี้ ทำให้กระทรวงคมนาคมสามารถถอดบทเรียนในการพัฒนาเมืองใหม่และพื้นที่รอบสถานีที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อมากำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ให้สามารถกระจายความเจริญและการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่พื้นที่อื่นนอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร และแก้ไขปัญหาความแออัดและการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้นยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์การควบคุมการจราจร และโครงการวงแหวนโยโกฮาม่า (อุโมงค์ทางด่วน) ของบริษัท Metropolitan Expressway จำกัด ซึ่งจากการเยี่ยมชมศูนย์การควบคุมการจราจร และ อุโมงค์ทางด่วน ทําให้คณะผู้แทนประเทศไทยได้เห็นถึงแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการทางพิเศษ ที่มีการนำนวัตกรรมมาช่วยสนับสนุนในการกำกับดูแลการจราจรและความปลอดภัยบนทางพิเศษ รวมไปถึงเทคโนโลยีในการก่อสร้างถนนและอุโมงค์ทางลอดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาและกำกับดูแลโครงการถนน อุโมงค์ และทางพิเศษของหน่วยงานฝ่ายไทย อาทิ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ต่อไป