“พาณิชย์” ชี้ประชาชนเลิกกักตุนของ ทำสินค้าอุปโภค-บริโภคจำเป็นช่วงโควิด-19 มีเพียงพอ

  • เผยราคาเคลื่อนไหวปกติเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ยกเว้นอาหารสดปรับขึ้น
  • ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคราคาทรงตัว
  • บางรายการเคลื่อนไหวตามการจัดโปรฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 22-28 เม.ย. 2563 จากการสำรวจในพื้นที่และสอบถามจากผู้ประกอบการ พบว่า การซื้อขายมีทิศทางดีขึ้น ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ และราคายังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยอาหารสดส่วนใหญ่ปรับราคาเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่แปรปรวน และปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด 

ในส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่ราคาทรงตัวและบางรายการเคลื่อนไหวตามการจัดโปรโมชั่น สินค้าอนามัย เช่น เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ มีจำหน่ายเพียงพอต่อความต้องการ ส่วนหน้ากากอนามัย ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่หันไปใช้หน้ากากผ้าทดแทน ขณะที่ภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอ และมีอัตรากำลังการผลิตเหลืออยู่ แต่ความต้องการซื้อชะลอตัวและยังคงมีปัญหา/อุปสรรคด้านสภาพคล่อง ต้นทุน การขนส่ง และแรงงาน ภาคการผลิตและจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างมีการปรับลดอัตรากำลังการผลิตตามคำสั่งซื้อและการก่อสร้างที่ชะลอตัว สำหรับภาคการส่งออก ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง และทรงตัว ยกเว้นสินค้าในกลุ่มผลไม้สด และปลาแปรรูป มีแนวโน้มสูงขึ้น 

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สถานการณ์ราคาและการผลิตยังไม่น่าเป็นห่วง ส่วนการบริโภคของประชาชน ไม่พบว่ามีการตื่นตกใจซื้อของไปเก็บจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้มาตรการห้ามส่งออกไข่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2563 ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มลดลงจากมาตรการปิดประเทศของประเทศคู่ค้า และปัญหาการขนส่งเป็นสำคัญ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานกับรัฐบาลจีน เพื่อให้เปิดด่านขนส่งสินค้าอีก 2 ด่าน คือ ด่านรถไฟผิงเสียง และด่านตงซิง ซึ่งสินค้าไทยโดยเฉพาะผลไม้จะสามารถส่งผ่านด่านดังกล่าวไปทางเวียดนามได้เพิ่มเติม รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยกลุ่มต่าง ๆ ค้าขายผ่านทางออนไลน์ได้มากขึ้นต่อไป 

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการให้รัฐช่วยด้านสภาพคล่อง การชดเชยรายได้ การลดต้นทุน เช่น ลดค่าไฟฟ้า และให้หาทางขยายการส่งออกทางช่องทางอื่น ๆ เช่น ทางอากาศ เป็นต้น ซึ่งหลายอย่างภาครัฐได้ดำเนินการไปแล้ว แต่อาจจะมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาเสริมได้ และขณะนี้ ได้เริ่มมีการผ่อนคลายการ lock down บางส่วน ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้นได้ในเวลาต่อไป