พาณิชย์เตรียมเจรจาสหรัฐฯขอคืนสิทธิจีเอสพี

  • คาดนัดเจรจาเดือนพ.ย.นี้ช่วงอาเซียน ซัมมิต
  • ย้ำจีเอสพีเป็นการให้ฝ่ายเดียว-สหรัฐฯให้-ไม่ให้ใครก็ได้
  • ก่อนหน้านี้ไทยเคยถูกตัดสิทธิ-คืนสิทธิแล้วหลายครั้ง

นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทยชั่วคราว มีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่า กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิโดยเร็วที่สุด ซึ่งไทยจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าแน่นอน คาดว่า จะหารือกับสหรัฐฯในระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพ.ย.นี้ เพราะสหรัฐฯจะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมอาเซียนกับคู่เจรจาด้วย รวมทั้งจะเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (ทิฟา) ด้วย

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าการให้สิทธิจีเอสพีเป็นการให้เพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา ที่เข้าตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯกำหนด หากประเทศที่ได้รับสิทธิ รวมถึงไทยไม่เข้าตามเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง หรือมีความสามารถในการส่งออกสินค้าจนเกินมูลค่าเพดานที่กำหนด สหรัฐฯก็อาจจะไม่ให้สิทธิ อย่างก่อนหน้านี้ ก็ได้ตัดสิทธิอินเดียไปแล้ว และต่อมาเป็นไทย โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯมีทั้งตัดสิทธิและคืนสิทธิสินค้าให้ไทยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 61 ได้ตัดสิทธิสินค้าไทย และปี 62 ก็เพิ่งจะคืนสิทธิให้ 7 รายการ

นายกีรติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การตัดสิทธิสินค้าไทยครั้งนี้รวม 573 รายการ ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯไม่ได้อีก หรือไทยจะสูญเสียมูลค่าการได้รับสิทธิไปทั้งหมด 40,000 ล้านบาท ยังส่งออกไปได้เหมือนเดิม เพียงแต่สินค้าไทยต้องเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติ เฉลี่ย 4.5% คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,800 ล้านบาท จากเดิมที่ไม่เสียภาษีเลย

สำหรับสินค้าสำคัญที่จะถูกระงับสิทธิ เช่น มอร์เตอร์ไซค์, แว่นสายตา, เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า, พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก, อาหารปรุงแต่ง, เคมีภัณฑ์, อุปกรณ์ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า, ทองแดง, ผลิตภัณฑ์เซรามิก, เครื่องประดับ เป็นต้น โดยกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บอัตราภาษีสูงสุด คือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และเครื่องครัวเซรามิก ที่ 26% ส่วนสินค้าที่ถูกเรียกเก็บอัตราภาษีต่ำสุด คือ เคมีภัณฑ์ ที่ 0.1%

นายกีรติ กล่าวว่า ยืนยันว่า การตัดจีเอสพีไทยครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ไทยประกาศห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด เพราะสหรัฐฯได้ส่งสัญญาณมาระยะหนึ่งแล้วว่าจะประกาศการตัดสิทธิไทยในช่วงปลายเดือนต.ค. หรือต้นเดือนพ.ย.นี้ และกรมหารือกับภาคเอกชนให้เตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยแนะนำให้หาตลาดใหม่รองรับ พร้อมกับต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งเชื่อว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวได้ เพราะก่อนหน้านี้ ทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ก็ตัดสิทธิจีเอสพีไทยมาแล้ว และผู้ส่งออกไทยก็หาตลาดอื่นรองรับได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตัดจีเอสพีครั้งนี้ เป็นเรื่องของสิทธิแรงงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมา ในช่วงที่ไทยแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ยูเอสทีอาร์ได้พยายามกดดันให้ไทยแก้ไขกฎหมายตามประเด็นที่สหรัฐฯเรียกร้อง 7 ข้อ แต่ไทยดำเนินการตามได้ 5 ข้อ ส่วนที่ 2 ข้อ เช่น ขอให้แรงงานต่างด้าวในไทยตั้งสหภาพแรงงานนั้น ไทยไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะหากมีการประท้วง จะส่งผลกระทบต่อนายจ้าง และเศรษฐกิจของไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงให้ยูเอสทีอาร์ทราบอย่างต่อเนื่องว่า ไทยดำเนินการไม่ได้ เพราะสหรัฐฯเองก็ยังดำเนินการไม่ได้เช่นกัน แล้วเหตุใดจึงกดดันไทยเพื่อแลกกับการให้จีเอสพี