พิพัฒน์ บิน อิสราเอล เจรจาดูแล แรงงานไทย กำชับเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือให้จบ มิ.ย.นี้

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.รง. เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.รง. เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือ แรงงานไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศ อิสราเอล ว่า กระทรวงแรงงาน ได้จ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการเยียวยา แรงงานไทย ใน อิสราเอล 50,000 บาท ให้แก่ผู้มีสิทธิและทายาทแล้ว 9,309 คน จากจำนวนผู้ที่ยื่นขอรับเงินทั้งหมด 9,384 คน หรือคิดเป็น 99.34% รวมเป็นเงิน 465,450,000 บาท และจ่ายเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศแล้ว 9,892 คน จากผู้ยื่นขอรับเงิน 11,101 คน หรือคิดเป็น 97.93% รวมเป็นเงิน 144,270,000 บาท

ยังมีตัวประกัน 6 คน

ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการด้านเอกสารและรออนุมัติ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินช่วยเหลือจากสถาบันประกันภัยแห่งชาติอิสราเอลอีกด้วย สำหรับตัวเลขล่าสุดมีแรงงานไทยเสียชีวิต 41 คน  และยังมีตัวประกันที่ถูกจับตัวอยู่อีก 6 คน โดยรายที่เสียชีวิตและมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคมจำนวน 35 ราย ทางสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ทายาทแล้ว 1,367,860.70 บาท 

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.รง.ได้กำชับให้ทุกหน่วยเร่งดำเนินการจ่ายเงินหรือประสานผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ทุกอย่างเรียบร้อยภายในเดือน มิ.ย.นี้

ภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน
ภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน

โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวว่า รมว.รง.และคณะ จะเดินทางไปอิสราเอลในระหว่างวันที่ 26 – 29 พ.ค.นี้ ตามคำเชิญของเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เพื่อไปติดตามสถานการณ์ โดยจะขอให้อิสราเอลดูแลความปลอดภัยแรงงานไทยให้ทำงานในพื้นที่สีเขียวเท่านั้นและช่วยเร่งรัดการจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายหรือเงินปิซูอิมให้แก่แรงงานไทยที่ครบกำหนดสัญญาการทำงานและที่เดินทางกลับประเทศไทยจากภาวะสงคราม

การเพิ่มโควต้าแรงงานไทยในภาคเกษตรและการจัดตั้ง Deposit Fund เพื่อสร้างหลักประกันให้กับแรงงานภาคเกษตรที่สิ้นสุดสัญญาจ้าง รวมทั้งขอโอกาสในการจัดส่งแรงงานก่อสร้างไปทำงานในอิสราเอลด้วย  โดยทางคณะจะได้พบหารือกับ รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน รมว.เกษตรและพัฒนาชนบทของอิสราเอล ผู้แทนสำนักงานประชากรและตรวจคนเข้าเมืองอิสราเอล และบริษัทนายจ้างของอิสราเอลอีกด้วย

“เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกระทรวงแรงงานได้ประกาศยกเลิกการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐอิสราเอลแล้ว เพราะทางการอิสราเอลให้ความเชื่อมั่นกับไทยและมีความต้องการแรงงานไทยมากถึงกว่า 20,000 อัตรา ส่วนแรงงานไทยก็มีความประสงค์จะไปทำงานในอิสราเอลเช่นกัน ซึ่งการเดินทางไปอิสราเอลของ รมว.รง. ครั้งนี้ จะเป็นการยืนยันและสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องคนไทยได้เป็นอย่างดี โดยหากมีความไม่ปลอดภัยหรือมีข้อติดขัดอะไรก็จะต้องรีบแก้ไข เพื่อคุ้มครองดูแลแรงงานไทยให้ดีที่สุด” นายภูมิพัฒน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “พิพัฒน์”โว ส่งออกแรงงาน 2 เดือนแรก เกือบ 3 หมื่นคน

ความต้องการแรงงานต่างชาติในอิสราเอลมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในสาขาอาชีพที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือ งานสกปรก อันตราย และงานหนัก ซึ่งชาวอิสราเอลไม่ต้องการทำ แต่ทางการอิสราเอล อนุญาตนำเข้าแรงงานต่างชาติใน 4 ประเภทกิจการเท่านั้น คือ ภาคงานเกษตร , ภาคการก่อสร้าง , ภาคงานบริการ (ดูแลคนชราและผู้พิการ) และ ภาคอุตสาหกรรมบริการ และร้านอาหาร

นอกจากนี้ รัฐบาลอิสราเอลมีการควบคุม และกำหนดโควต้า การนำเข้าแรงงานต่างชาติทุกปีโดยในปีพ.ศ. 2549 ได้กำหนดโควตา อนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติ ดังนี้

1. ภาคก่อสร้าง จำนวน 15,000 คน โดยได้เปลี่ยนแปลงระบบการจ้างงาน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นมา โดยให้บริษัทจัดหางานอิสราเอลที่รัฐบาลคัดเลือกจำนวน 42 บริษัทเป็น นายจ้างแทนที่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นนายจ้างเช่นเดิม บริษัทจัดหางานเหล่านี้ จะได้โควตาวีซ่าจากรัฐบาลโดยตรง เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ทำประกัน รวมทั้งจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้ลูกจ้างของตนด้วย ซึ่งโควต้าจำนวน 15,000 คนนี้ รวมถึงแรงงานต่างชาติที่ทำงานก่อสร้างในประเทศอิสราเอลอยู่แล้ว โดยรัฐบาลอิสราเอลจะพิจารณาให้นำเข้า ต่อเมื่อมีแรงงานคนเก่าเดินทางออกนอกประเทศไปแล้วเป็นการนำเข้าเพื่อทดแทนแรงงานเก่าเท่านั้น

2. งานอุตสาหกรรมบริการและร้านอาหาร ได้แยกโควต้าเป็นงานอุตสาหกรรมบริการ จำนวน 1,500 คน และงานในร้านอาหารที่ต้องการผู้ชำนาญงานและมีฝีมือ ซึ่งคนอิสราเอลทำไม่ได้ เช่นประกอบอาหารไทย ญี่ปุ่น จีน จำนวน 1,150 คน

3. งานเกษตร จำนวน 26,000 คน โควต้างานเกษตร 26,000 คน นี้ รวมถึงคนงานเกษตรที่กำลังทำงานในประเทศอิสราเอลด้วยซึ่งโดยปกติในเดือนมกราคมของทุกปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงมหาดไทยอิสราเอล กระทรวงเกษตร และกระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงานของอิสราเอล จะมีการพิจารณาทบทวนจำนวนโควตางานเกษตร โดยในเบื้องต้นกำหนดให้นายจ้างเก่าที่มีแรงงานต่างชาติแล้วและมีวีซ่าว่างแต่ต้องการแรงงานเพิ่ม ต้องจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่ถูกจับกุมก่อน และ ให้เวลาแก่นายจ้างที่มีลูกจ้าง เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งตนต้องการจ้างต่อไปให้ไปต่อวีซ่าที่กระทรวงมหาดไทย ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อทุกคนต่อวีซ่าให้ลูกจ้างของตน แล้วจะทำให้ทราบว่ามีแรงงานส่วนที่ขาดเท่าใด จึงจะอนุญาตให้นายจ้างนั้น ๆ นำเข้าแรงงานใหม่ไปทำงานแทนคนงานเดิมซึ่งเดินทางกลับ หรือเปลี่ยนนายจ้างใหม่

4. งานดูแลคนชราและผู้พิการ ในปี 2549 ทางการอิสราเอล ไม่จำกัดจำนวนโควต้า เพราะมีคนชรา และผู้พิการต้องการ คนดูแลมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ประกอบกับคนอิสราเอล ไม่นิยมทำงานนี้ หรือถ้าจ้างคนอิสราเอล ต้องจ้างในอัตราค่าจ้างสูงมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนจะอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติ จะมีการตรวจสอบ หากเห็นว่าจำเป็น จึงจะอนุญาตให้จ้างได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจ ที่มีความต้องการแรงงานต่างชาติมาก ขณะนี้จึงมีบริษัทจัดหางานอิสราเอลที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติไปทำงานดูแลคนชรา คนป่วย และ ผู้พิการในประเทศอิสราเอลประมาณ 400 บริษัท

เนื่องจากแรงงานต่างชาติ ที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางไปทำงาน ในประเทศอิสราเอล ทำให้ประเทศอิสราเอลถูกนานาชาติ ตำหนิว่าใช้ประโยชน์จากแรงงานต่างชาติเสมือนทาส ทำให้ภาพพจน์ของประเทศเสียหาย

รัฐบาลอิสราเอลจึงมีนโยบายลดค่าใช้จ่ายของแรงงานต่างชาติในการเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล โดยมอบหมาย ให้องค์กรระหว่างประเทศ สำหรับการอพยพแรงงาน ( International Organization for Migration หรือ I.O.M ) เป็นผู้จัดส่งแรงงานต่างชาติไปทำงานในประเทศอิสราเอล โดยเริ่มจากประเทศไทย เป็นประเทศแรก หากได้ผลจะได้ขยายไปสู่การนำแรงงานต่างชาติ ไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศอิสราเอล และกับประเทศอื่นต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือของกระทรวงแรงงานของไทยกับ I.O.M