พาณิชย์ลั่นไฟเขียวผู้ค้าปุ๋ยขึ้นราคาเป็นรายๆ

  • ไม่ให้ปรับขึ้นเท่ากันหมดเหตุมีต้นทุนต่างกัน
  • แม้ต้นทุนโดยรวมพุ่งแล้วเกือบ 50% จากปี 64
  • “จุรินทร์”ลั่นไทยหนีไม่พ้นราคาสินค้า-เงินเฟ้อขยับ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค.65 ได้หารือกับผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีว่า หากจะอนุญาตให้ขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมี กรมจะพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละรายมีต้นทุนต่างกัน ไม่ใช่อนุญาตให้ขึ้นเท่ากันหมด หรือให้ขึ้นทุกราย แม้พบว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นถึง 36-49% เทียบกับปี 64 หรือเกือบ 100% เทียบปี 63 จากผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้แหล่งผลิตปุ๋ยเคมีใหญ่ทั้ง 2 แหล่งได้รับผลกระทบ อีกทั้งไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบ 100% หรือปีละกว่า 5 ล้านตัน โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญคือ ตะวันออกกลาง จีน รัสเซีย แคนาดา ฯลฯ 

            นอกจากนี้ ยังเร่งรัดให้ผู้ค้าปุ๋ย เร่งนำเข้าปุ๋ยมาให้ทันกับฤดูการเพาะปลูกใหม่ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ได้พิจารณาถึงมาตรการที่จะลดต้นทุนให้กับผู้ค้า รวมถึงเกษตรกรด้วย  “การขึ้นราคาปุ๋ย หรือสินค้าอื่นๆ ที่ขณะนี้ต้นทุนสูงขึ้นมากจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกสูงขึ้น ผู้ค้าเข้าใจสถานการณ์ดีว่า การขึ้นราคาสูงเกินไป จะทำให้ความต้องการซื้อลดลงทันที และกระทบกับตัวเอง ดังนั้น การขึ้นราคา กรมจะพิจารณาถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งผู้ผลิต/ผู้ค้า เกษตรกรผู้ใช้ และผู้บริโภค แต่ถ้าไม่ขึ้นราคา ผู้ผลิต/ผู้ค้าก็อาจไม่นำเข้า และไม่ผลิต ซึ่งจะทำให้ปุ๋ยขาดแคลน และกระทบต่อเกษตรกรได้อีก รวมถึงสินค้าอื่นๆ ก็เช่นกัน”  

ส่วนการสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ที่กำหนด 1 ต่อ 3 เป็นการชั่วคราว เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์ และเกษตรกร จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นมากในขณะนี้นั้น ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) พิจารณาเห็นชอบ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหารือกันอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน เแต่เห็นว่า ข้าวโพดหลังนาของไทยที่กำลังจะออกในเร็วๆ นี้อีกราว 700,000-800,000 ตัน จะเข้ามาช่วยเติมวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้มีมากขึ้น และไม่เกิดภาวะขาดแคลน

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จากนี้ไปต้องยอมรับความจริงว่าต้นทุนผลิตสินค้าสูงขึ้น จากผลกระทบของรัสเซีย- ยูเครน ที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน รวมถึงค่าไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของสินค้าหลายชนิด และมีผลต่อภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ขณะนี้ไทยหนีไม่พ้นเงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะราคาสินค้าจะสูงขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์และหลายหน่วยงานพยายามกำกับดูแลให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และหากจะปรับขึ้นราคาสินค้า ต้องดูเป็นกรณี เป็นหมวดสินค้า และต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน