ผบ.ทร. แถลงเปิดไทม์ไลน์ละเอียดเหตุ “เรือหลวงสุโขทัย” อัปปาง จ่อสอบเข้มปมเสื้อชูชีพมีไม่พอกำลังพล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้ (20 ธ.ค.65) ที่ห้องชมวัง อาคารราชนาวิกสภา กองทัพเรือ พลเรือเอกเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พร้อมด้วย พลเรือเอก ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ แถลงข่าวถึงความคืบหน้าเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอัปปางว่า จากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอัปปาง เมื่อเวลา23.30 น. วันที่ 18 ธ.ค. 2565 ล่าสุดวันนี้ พบร่างผู้ประสบภัย 6 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติพี่น้องด้วย 

โดยทั้ง 6 ราย นั้นใส่เสื้อชูชีพทุกนาย ส่วนศพที่พบ 4 รายนั้น อยู่ใกล้กัน คืออยู่ในเขต อ.ปะทิว จ.ชุมพร ห่างจากจุดเกิดเหตุที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ราว 60 กิโลเมตร ไปทางทิศใต้ ทั้งนี้ทางกองทัพเรือยังระดมค้นหาอีก 23 นาย

สำหรับเรือหลวงสุโขทัยเข้าประจำการในปี 2527 เป็นเรื่องคอร์เวตต์ รบได้ทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำและทางอากาศ ปัจจุบันมีอายุ 36 ปี ตามระเบียบกองทัพเรือ เรือฟรีเกตและคอร์เวตต์ กำหนดให้มีอายุการใช้งาน 40 ปี ซึ่งแม้จะใช้มาแล้ว36 ปีแต่ระบบต่างๆ ของเรือยังคงใช้ได้ดี และมีโครงการขยายอายุการใช้งานไปอีก 5-10 ปี ทั้งนี้ เรือหลวงสุโขทัยได้รับการซ่อมใหญ่เมื่อ 2 ปีก่อน ตามแผนส่งไปปฏิบัติการในฝั่งอันดามัน แต่ยังไม่ได้ส่งไป ปัจจุบันอยู่ในสังกัด ทร.ภ.1 อยู่ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี

สำหรับในวันที่ 18 ธ.ค. 2565 เรือหลวงสุโขทัย ได้รับภารกิจออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนคลื่นลมแรง ทะเลอ่าวไทยคลื่นสูง 3-4 เมตร ลมมรสุมพัดจากเหนือลงใต้ ส่งผลกระทบตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์-นราธิวาส นอกจากนั้นยังได้รับภารกิจสนับสนุนการจัดงาน 100 ปี กรมหลวงชุมพร ที่ จ.ชุมพรเดินทางไปกับเรือฟรีเกตคือเรือหลวงกระบุรี โดยเรือหลวงกระบุรีไปถึงก่อน แต่ไม่สามารถทิ้งสมอที่หาดได้ เพราะคลื่นลมแรง จึงขอไปจอดที่ท่าเทียบเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเรือหลวงกระบุรีเข้าไปจอดได้ก่อนตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันดังกล่าว

ในช่วงเวลาเดียวกัน คลื่นลมแรง มีรายงานเรือสินค้าเกยตื้นและจม ทั้งที่พื้นที่ จ.สงขลา และ จ.สุราษฎร์ธานี เบื้องต้นทราบว่าเรือหลวงสุโขทัยมีน้ำเข้าเรือ ส่งผลต่อระบบไฟฟ้าและระบบเครื่องยนต์ ซึ่งกำลังพลก็พยายามสูบน้ำออกตามขั้นตอน แต่ไม่สามารถทำได้ทันกับปริมาณน้ำที่เข้ามา ส่งผลให้น้ำเข้ามาเป็นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม เรือหลวงสุโขทัยเป็นเรือรบ จึงมีระบบผนึกน้ำในเรือแต่ละช่วง เพื่อให้เรือยังลอยอยู่ได้ แต่น้ำได้เข้าท่วมเรือจำนวนมาก ส่งผลให้เครื่องยนต์ซ้ายดับ และสูญเสียเครื่องควบคุมใบจักร จนทำความเร็วไม่ได้ สุดท้ายน้ำท่วมจนระบบไฟฟ้าดับ จากนั้นก็ตามที่เห็นปรากฏในคลิปวิดีโอ  คือเกิดเรือลอยแบบเอียง

จนกระทั่งเวลา 20.00 น. เรือหลวงกระบุรี เดินทางไปถึงจุดที่เรือหลวงสุโขทัยลอยลำอยู่ พร้อมด้วยเครื่องบินลาดตระเวนและเฮลิคอปเตอร์ พบเรือเอียง 60 องศา สภาพคงที่ กองทัพเรือจึงได้ขอเรือ 2 ลำ สำหรับช่วยลากเรือหลวงสุโขทัย พร้อมกับมีเรือสินค้าและเรือน้ำมันที่เข้ามาช่วยเหลือลูกเรือ และแม้จะนำเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ไปด้วย แต่ด้วยสภาพที่เอียงจึงไม่สามารถนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปได้

ผบ.ทร. กล่าวต่อว่า บนเรือหลวงสุโขทัยนั้นมีแพชูชีพ สามารถปลดอัตโนมัติหากเรือเริ่มจม มีแพทั้งหมด 6 แพ รับได้15 คนต่อ 1 แพ นอกจากนั้นยังมีแพของเรือหลวงกระบุรี และแพชูชีพที่ทิ้งจากเครื่องบิน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนหากต้องสละเรือ

อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นยังเชื่อว่าสามารถลากเรือกลับได้ เพราะเรือเอียงคงที่ จึงยังไม่มีการเคลื่อนย้ายกำลังพล จึงให้เรือหลวงกระบุรีคอยช่วยเหลือกำลังพลเรือหลวงสุโขทัยหากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น

แต่แล้วหลังจากนั้นน้ำเข้าเรือมากขึ้น ทำให้เรือเอียงมากขึ้น และเริ่มจมจากด้านท้าย ทำให้กำลังพลส่วนหนึ่งเริ่มกดใช้งานแพชูชีพ เพื่อให้กำลังพลที่ไม่มีเสื้อชูชีพได้ขึ้น ขณะที่กำลังพลอีกส่วนพยายามว่ายน้ำไปยังเรือหลวงกระบุรี เบื้องต้นทั้งเรือลากและเรือสินค้า ช่วยเหลือกำลังพลได้ 75 นาย แต่มีกำลังพลสูญหาย 30 นาย ส่วนบนเรือหลวงกระบุรี มีการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ซึ่งบางรายอาการสาหัสมีบาดแผลรุนแรงที่ศรีษะ หรือบางรายแขน-ขาหัก จึงขอเดินทางกลับฝั่งเพื่อนำผู้บาดเจ็บไปรักษายังโรงพยาบาล โดยเทียบท่าที่ท่าเรือบางสะพาน ก่อนจะกลับไปยังจุดที่เรือหลวงสุโขทัยเอียงอีกครั้ง ส่วนเรือหลวงอ่างทอง เดินทางไปถึงในเวลาเช้าของวันที่ 19 ธ.ค. 2565 เพื่อช่วยกันค้นหากำลังพลที่ผู้สูญหาย

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอยืนยันว่ากองทัพเรือมีแผนป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนตั้งแต่ผู้การเรือ ไปจนถึงกำลังพลทุกนาย ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขั้นตอนปฏิบัติ และรายงานข้อเท็จจริงของสาเหตุของเรือจม รวมถึงข้อสงสัยอื่นๆ เช่น เสื้อชูชีพไม่เพียงพอสำหรับกำลังพลที่มาสมทบ  ทั้งนี้หลังสอบสวนข้อเท็จจริงจะรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น รวมถึงนายกรัฐมนตรี และทางกระทรวงการคลัง แต่ขอย้ำว่า กองทัพเรือไม่มีการปกปิด ส่วนจะเปิดเผยได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องใดเปิดเผยได้ หรือเรื่องใดเป็นความลับทางราชการ” ผบ.ทร.กล่าว

ผบ.ทร.กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน กองทัพเรือมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่สโมสรสันนิบาต กองเรือยุทธการ เพื่อให้ญาติพี่น้องของกำลังพลที่สูญหายได้สอบถามข่าวสาร รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าที่ท่าเรือบางสะพาน เพื่อช่วยเหลือกำลังพลที่อาจค้นพบเพิ่มเติม หากยังมีชีวิตก็จะส่งไปรักษายังโรงพยายาล แต่หากเสียชีวิตก็จะมีการพิสูจน์อัตลักษณ์ก่อนส่งศพให้ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตต่อไป

ด้าน พลเรือเอก ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า หลังทราบเหตุการณ์ ได้ส่งทั้งเรือหลวงกระบุรี เรือทรัค 2 ลำ เข้าไปยังที่เกิดเหตุ แต่ช่วงค่ำวันที่ 18 ธ.ค. 2565 มีคลื่นลมแรงมาก ทำให้เข้าถึงพื้นที่ได้ยาก อย่างไรก็ตาม สามารถช่วยเหลือได้ 74 นาย ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 19 ธ.ค. 2565 สถานการณ์คลื่นลมยังไม่ดีขึ้น ในช่วงนี้มีการใช้โปรแกรมคาดการณ์การไหลของผู้ประสบภัยทางทะเลจากทิศทางของกระแสน้ำ มีการใช้อากาศยาน 1 ลำเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ร่วมค้นหา จนพบกำลังพล 1 นายลอยคออยู่ ห่างจากจุดเกิดเหตุ 5.7 ไมล์

“ในการค้นหามีการแบ่งพื้นที่เป็น 11 พื้นที่ กระทั่งเวลา 15.00 น. ของวันที่ 20 ธ.ค. 2565 พบลูกเรือ 1 นาย ห่างจากจุดเกิดเหตุ 60 กม. และต่อมาพบอีก 5 นาย รวมที่พบแล้ว 81 นาย ยังไม่พบ 24 นาย ในจำนวนร่างกำลังพลที่พบ มีผู้เสียชีวิต 4 นาย ซึ่งทางกองทัพเรือและกองทัพอากาศ จะยังคงค้นหาต่อไป และยังมีความหวังในการตามหากำลังพลที่เหลือ เห็นได้จากผู้รอดชีวิตล่าสุดที่พบ ห่างจากเวลาเกิดเหตุถึง 41 ชั่วโมง” พลเรือเอก ชลธิศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงการซักถามเรื่องเสื้อชูชีพนั้น ทาง ผบ.ทร. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปกติกำลังพลที่ลงเรือเพิ่มเติมต้องนำเสื้อชูชีพไปด้วย ซึ่งโดยปกติ เรือรบจะมีเสื้อชูชีพ 2 ส่วน ทั้งส่วนของกำลังพล และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งนี้ เรือหลวงสุโขทัย มีเสื้อชูชีพไม่เพียงพอกับกำลังพล 30 นาย ที่ขอโดยสารไปด้วยเพิ่มเติม 

อย่างไรก็ตาม เรือยังมีอุปกรณ์กู้ภัยอื่นๆ ทั้งห่วงยาง แพชูชีพ และลูกยาง ซึ่งมีกำลังพลบางนายนำลูกยางมาผูกไว้กับเอว รวมถึงข้อกำหนดให้คนที่ไม่มีเสื้อชูชีพขึ้นเรือชูชีพ โดย 30 คนที่ไม่มีเสื้อชูชีพ ช่วยเหลือได้แล้ว 18 คน ตั้งแต่รอบแรกในกลุ่ม 75 คน มีสูญหาย 12 คน ขณะที่กลุ่มที่มีเสื้อชูชีพที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ตั้งแต่แรกคือ 18 คน (กำลังพล30 นาย ที่สูญหายในรอบแรก เป็นกลุ่มที่มีเสื้อชูชีพ 18 นาย ไม่มี 12 นาย)