“ประภาส” อธิบดีกรมบัญชีกลางคนใหม่ ไฟแรง! สั่งเคลียร์ปัญหาอุทธรณ์จัดซื้อจัดจ้างค้างท่อหมื่นล้าน

  • หวังให้เบิกจ่ายงบประมาณออกไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจเร็วที่สุด
  • เร่งตรวจสอบทุนหมุนเวียนแต่ละกองทุนว่ามีดำเนินงานอย่างไร

นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยนโยบายเร่งด่วนหลังเข้ารับตำแหน่งว่า จะเร่งขับเคลื่อนงานของกรมบัญชีกลาง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านแรกการเข้าไปแก้ปัญหาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งขณะนี้มีความล่าช้าหลายโครงการ จนทำให้การเบิกจ่ายงบไม่ได้ตามแผน โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่มีประเด็นการร้องเรียนอุทธรณ์เข้ามามาก จึงต้องเร่งเคลียร์ให้จบเพื่อให้เบิกจ่ายงบประมาณออกไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด

“ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางไปเร่งรวบรวมประเด็นเรื่องอุทธรณ์ต่างๆ ว่ามีกี่คดี มีวงเงินประมาณเท่าไร และคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนอุทธรณ์ค้างอยู่เยอะ ซึ่งมูลค่ารวมๆ น่าจะหลายหมื่นล้านบาท เพราะมีโครงการใหญ่อย่างลงทุนรถไฟอยู่ด้วย แต่จะถึงแสนล้านหรือไม่ ต้องรอรวบรวมก่อน”

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาจะมีการจัดกลุ่มโครงการ และประเด็นอุทธรณ์ว่า เป็นการอุทธรณ์ที่มีสาระ หรือมีข้อเท็จจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นการอุทธรณ์เพื่อกลั่นแกล้งให้คู่แข่งได้รับงานล่าช้า ก็จะเร่งตัดสินให้จบ เพื่อให้เดินหน้าและเบิกจ่ายงบได้ หรือถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจก็จะเร่งดูเช่นกัน โดยพิจารณาภายใต้ข้อกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ จะดูปัญหาจัดจัดซื้อจัดจ้างอื่นๆ เช่น อุปสรรคข้อระเบียบ การทำงบเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี หากติดขัดตรงไหนก็ต้องเร่งดำเนินการ

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนี้ จำเป็นต้องพึ่งงบประมาณของรัฐบาลเป็นตัวหลัก เพราะทั้งในส่วนของการลงทุนเอกชน การท่องเที่ยว การบริโภค ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ ดังนั้นกรมบัญชีกลางจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 64 ของรัฐ 3.28 ล้านล้านบาท ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักจะต้องทำให้ลุล่วง”

สำหรับนโยบายเร่งด่วนด้านต่อมา การเข้าไปตรวจสอบทุนหมุนเวียนแต่ละกองทุนว่ามีการดำเนินงานอย่างไร มีเงินสะสมและเบิกจ่ายไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ตามแผนแค่ไหน รวมถึงการนำทุน ผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อเร่งรัดให้งบประมาณที่อยู่ในทุนหมุนเวียน ถูกใช้จ่ายไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกเก็บค้างไว้ในกองทุนโดยไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์

นอกจากนี้ จะดูแลเบิกจ่ายงบประมาณทั่วไปให้มีความคล่องตัว ผ่านระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐ แบบอิเล็กทรอนิกส์ (จีเอฟเอ็มไอเอส) ซึ่งนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อปรับกระบวนการดำเนินงานและการจัดการภาครัฐด้านงบประมาณ การบัญชีการจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่าย และการบริหารทรัพยากรไม่ให้ติดขัด