“บรรยง พงษ์พานิช” แนะ 3 วิธีบริหารเศรษฐกิจ “มั่งคั่ง ทั่วถึง ยั่งยืน”

  • ไม่ให้คะแนนรัฐบาล เพราะไม่รู้จะให้อย่างไร
  • ชี้เหตุไทยโตล่าช้า เพราะมีปัญหาโครงสร้าง ที่สะสมมานาน
  • พร้อมจี้ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในเวที เสวนา “THAIRATH FORUM 2022” ภายใต้หัวข้อ “ตื่น ฟื้น ฝัน: สังคมต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น การเมืองในฝัน” โดยไทยรัฐกรุ๊ป ว่า ถ้าจะให้คะแนนรัฐบาล ขออนุญาตไม่ให้ เพราะไม่รู้จะให้อย่างไร และเปรียบเทียบกับอะไร แต่จากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ และสถาบันอนาคตไทยศึกษา ระบุชัดว่า ไทยล่าช้า เพราะรัฐมีขนาดใหญ่เกินไป งบประมาณ 25% ของจีดีพี เทียบกับประเทศสแกนดิเนเวียอยู่ที่ 50% ในจำนวนนี้ มากถึง 80% เป็นสวัสดิการ แต่ของเราเป็นงบโอเปอเรชั่น หรืองบบริหารราชการแผ่นดิน อย่างเงินเดือนข้าราชการ ไม่ใช่งบลงทุน ประเทศไทยมีข้าราชการ และพนักงานราชการมากถึง 2.2 ล้านคน และมีสวัสดิการสูงมาก เป็นภาระการคังในอนาคต ขณะที่ญี่ปุ่นมีประชาชนมากกว่าเรา แต่มีข้าราชการเพียง 500,000 คน สิงคโปร์ 110,000 คน

“ข้อสรุปของผมคือ รัฐใหญ่เกินไป ใหญ่ขนาดไหนบ้าง มิติที่ 1 ขนาดใหญ่เกินไป และมีอำนาจกระจุก 2.บทบาทรัฐบาล ที่ยุ่งทุกเรื่อง พวกเรามีปัญหาอะไรก็ให้รัฐแก้ ที่เรียกสังคมอุปถัมภ์ ประชาชนอยากให้รัฐทำ รัฐเองก็รู้สึกว่า ตัวเองเป็นพ่อก็ต้องทำให้ เป็นปัญหาที่อยู่ในทัศนคติที่ฝังลึกมาก และ 3.อำนาจรัฐสูงมาก มีกฎหมายแสนกว่าฉบับ รวมกฎกระทรวง คำสั่ง ที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม มีใบอนุญาต 5,000 กว่าชนิด ประเทศอื่น 300 ก็พอ เรามีอะไรเยอะแยะไปหมด และเพิ่มตลอดเวลา ข้อเสนอของผมก็คือ   1.ต้องหดขนาดรัฐ 2.กระจายรัฐ โดยกระจายอำนาจ และทรัพยากรออกไป อย่าให้กระจุกตัว”

นายบรรยง กล่าวต่อถึงในด้านเศรษฐกิจว่า การบริหารมีเป้าหมายง่ายๆ เพียง 3 ดาน คือ 1.มั่งคั่ง ทำให้รายได้เฉลี่ย รายได้ของประเทศสูงไปเรื่อยๆ 2.ทั่วถึง คือ ต้องเติบโตอย่างทั่วถึง และ3.ยั่งยืน เราต้องตื่นก่อน การจะแก้ปัญหาอะไร เราต้อง Face the Brutal Fact ต้องยอมรับความจริง แม้ไม่สวยหรู ข้อเท็จจริงคือ เศรษฐกิจไทยติดกับดักมากกว่า 20 ปี อย่างที่รู้ทั้งโลก ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนามาตั้งแต่ตนเกิด จนตอนนี้แก่แล้ว ก็ยังไม่เป็นประเทศพัฒนาแล้วเสียที ถ้าเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพเติบโตได้ 3% คงใช้เวลาอีก 20 ปีกว่าจะขึ้นไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ เป็นเรื่องน่ากังวล ถ้าระหว่างกลางประสบภาวะวิกฤติอีก ก็คงต้องฝากลูกหลานดูต่อ ตนคงอยู่ไม่ทันดูแล้ว

นายบรรยง กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ตนอาสาสมัครไปปฏิรูปรัฐ พบว่า สิ่งสำคัญหนึ่งที่ต้องปฏิรูป คือ รัฐวิสาหกิจ เชื่อหรือไม่ว่า รัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง มีทรัพย์สินรวมกัน 18 ล้านล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายรวมกันปีละ 6 ล้านล้านบาท 2 เท่าของงบประมาณแผ่นดิน ที่มีสัดส่วน 25% ของจีดีพี จึงจำเป็นต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส บางรัฐวิสาหกิจ มีกำไรมาก แต่มาตรวัดประสิทธิภาพใช้ไม่ได้เลย

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นการปฏิรูปประเทศนั้น มีคนบอกว่า แผนของเราหันหลังกลับไปสู่ Center Plan Economy คือ การที่รัฐวางแผนให้ทุกอย่าง ถ้าดูในรายละเอียด เป็นการขยายรัฐตลอด ต้องตั้งหน่วยงานรัฐใหม่ 56 หน่วยงาน ใช้คนอีกไม่รู้กี่แสน และเอามาแผนยุทธศาสตร์ขาติมาทำเป็นกฎหมาย ที่ทุกคนต้องทำตามไปอีก 20 ปี ซึ่งน่ากลัวมาก การมีแผนไม่ผิด แต่ต้องยืดหยุ่น

ส่วนประเด็นการพลิกฟื้นประเทศ นายบรรยง กล่าวว่า ประเทศไทย ไม่มีทางที่จะพลิกฟื้นแบบกระเด้งเลยทันที แต่เราต้องอดทน เข้าใจ และวางรากฐานระยะยาว และต้องชักชวนทุกภาคส่วนให้ร่วมการปฏิรูปด้วย การปฏิรูปที่ดีที่สุด คือ ต้องเอาการกระจุกตัวไปกระจายสู่ประชาชน 70 ล้านคน แต่ที่ยากสำหรับไทยคือ คน 70 ล้านคนไม่รู้สึกอะไร เพราะได้คนละนิด แต่คนไม่กี่หมื่นคน ได้ประโยน์มากกว่าและลุกขึ้นมาคัดค้าน

“คำแนะนำระยะสั้น เวลาเกิดวิกฤติ หนีไม่พ้นรัฐต้องแทรกแซงแต่ต้องแทรกแซงอย่างฉลาด และชั่วคราว แต่การแทรกแซงต้องใช้ทรัพยากรก้อนใหญ่  มีรัฐเท่านั้นที่จะหยิบยืมทรัพยากรในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน ตอนนี้ ที่ผมส่งเสริมคือ ต้องขยายรัฐแบบชั่วคราว ไม่ใช้ขยายแล้วแช่เลย”

สำหรับระดับหนี้สาธารณะของไทยที่มีมากถึง 60% ของจีดีพีขณะนี้นั้น แก้ปัญหาง่ายนิดเดียว คือ เปลี่ยนนิยาม เพราะเรานิยามหนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐไม่ได้ค้ำประกัน ซึ่งมีอยู่ 800,000 ล้านบาทว่าเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งจริงๆ ไม่ควร เพราะตลาดยอมรับแล้ว เขาคืนหนี้ได้เอง เช่น ปตท. หรือ การบินไทย สรุปรัฐไม่ต้องใส่เงิน ถ้าแก้อย่างถูกจุดจแก้ปัญหาได้ และมีเพดานเพิ่มขึ้นมา 6% อีกอย่างที่จะเพิ่มศักยภาพภาครัฐ คือ ขายรัฐวิสาหกิจที่เข้าตลาดไปแล้วให้หมด ไม่รู้รัฐจะถือไว้ทำไม ถือไว้ให้คนแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกัน อาจมีคนไม่ชอบ เพราะนักการเมือง ข้าราชการคุมไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ถ้าขายได้จะได้เงินมากถึงกว่า 1  ล้านล้านบาท ขยายเพดานหนี้สาธารณะได้อีกกว่า 10% จะทำให้รัฐบาลมีศักยภาพด้านการคลังเหลือเฟือ หนี้สาธารณะจะลงไปเหลือแค่ไม่ถึง 50%