“น.อ.อนุดิษฐ์” มอบฉายาให้บิ๊กตู่ “บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้” ฝ่ายค้านอัดยับอภิปรายงบประมาณฯปี 64

  • จัดสรรงบเหมือนประเทศไม่มีวิกฤติโควิด-19
  • ไม่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันโลกในขณะนี้ ไร้วิสัยทัศน์
  • ด้าน “พิธา” ลั่นให้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
  • เหตุบิ๊กตู่ ใช้งบประมาณแผ่นดินครบ 20 ล้านล้านบาท ตั้งแต่บริหารปี 57

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 ก.ค.) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 โดยชี้ให้เห็นถึงการจัดสรรเงินงบประมาณของรัฐบาลที่การประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 2.677 ล้านบาท ใกล้เคียงกับรายจ่าย ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามที่ประมาณการไว้ และเศรษฐกิจไม่เติบโตตามที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ประมาณการไว้ที่ 5% อาจส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2565 เพราะสุ่มเสี่ยงละเมิดวินัยการเงินการคลัง 

“5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหาร รัฐบาลประมาณการรายได้ผิดพลาดมาโดยตลอด เพราะจัดเก็บรายได้ ได้ต่ำกว่าเป้า แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่มีกำลังซื้อ และยังออกกฎหมายกู้เงินจำนวนมาก ดังนั้นจึงขอตั้งฉายาให้นายกรัฐมนตรี ว่าเป็น “บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้” ซึ่งการที่รัฐบาลต่ออายุพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ถือเป็นการสร้างอุปสรรคต่อการฟื้นเศรษฐกิจ ถามว่ารัฐบาลเตรียมแผนรองรับสถานการณ์คนตกงาน 7-10 ล้านคนไว้อย่างไร” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ ได้อภิปรายต่อโดยตั้งข้อสังเกตเนื้อหาการจัดสรรงบประมาณปี 2564 ว่า เป็นการจัดทำงบประมาณไว้ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 และมีความจงใจที่จะไม่ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เสมือนการฮั้วประมูล เนื่องจากหลายจุดส่อให้เห็นถึงการกระทำทุจริต ล็อกสเปค เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องและกลุ่มทุน 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า วันนี้สภาผู้แทนราษฎรจะกำหนดอนาคตของพี่น้องชาวไทยด้วยงบประมาณปี 2564 มูลค่า 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งปี 2564 นอกจากจะเป็นปีที่ประชาชนทุกข์แสนสาหัสแล้ว ยังต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยว่า เป็นปีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้งบประมาณแผ่นดินครบ 20 ล้านล้านบาท ตั้งแต่บริหารประเทศมาจากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน แต่น่าแปลกใจที่เงินมหาศาลนั้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้น้อยมาก เพียง 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น 

“การแก้ไขปัญหาประเทศต่อจากนี้ จะบริหารงบประมาณแบบเดิม แล้วคาดหวังว่าจะได้รับผลลัพธ์ใหม่ คงจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าเราจะใส่เม็ดเงินลงไปมากเท่าใดก็ตาม น่าเสียดายที่งบประมาณปี 2564 เป็นการจัดงบประมาณเหมือนประเทศไทยไม่มีวิกฤติ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับงบประมาณฯ ปี 2563 ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ ยังห่วงเรื่องจัดเก็บภาษี ที่อาจไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ ที่อาจทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มด้วย” นายพิธา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบปี 2564 ครั้งนี้ไม่ควรใช้สำหรับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือการทำโครงสร้างพื้นฐาน แต่ควรให้ความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข เช่น การผลิตวัคซีนต้านโควิด และควรเพิ่มงบประมาณให้กระทรวงแรงงาน เพื่อทำโครงการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ 

“งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 นั้นผมได้อ่านดูแล้ว เหมือนรัฐบาลเห็นว่าประเทศไม่มีวิกฤติ โลกปรับแล้ว แต่งบไทยยังไม่เปลี่ยน ประเทศเผชิญมหาวิกฤติรุมเร้าแต่รัฐบาลยังคงจัดกระเป๋าไปตามปกติ ผมจึงไม่สามารถเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 64 ในวาระ 1 ได้” นายพิธา กล่าว