ธ.ก.ส. พร้อมรับลูกรัฐบาลใหม่ ลุยนโยบาย “พักหนี้เกษตรกร”

ธ.ก.ส. ขานรับนโยบายรัฐบาลใหม่ “พักชำระหนี้เกษตรกร” เผยต้องคุยสรุปรายละเอียดให้ชัดเจน

  • เผยเตรียมข้อมูล รวบรวมรายละเอียดของลูกค้าของ ธ.ก.ส. ไว้เป็นที่เรียบร้อย
  • ลั่นต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ ว่าจะมีการพักหนี้ในรูปแบบใด
  • เผยปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีหนี้เสีย 8.46% วางเป้าหมายสิ้นปีัญชีลดเหลือ 5.5%

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่ต้องการพักหนี้ให้เกษตรกร ในส่วนของ ธ.ก.ส.นั้น ทางกระทรวงการคลังได้มีการประสานมาทาง ธ.ก.ส. แล้ว ซึ่งทางธนาคารฯ ก็ได้มีการจัดเตรียมข้อมูล รวบรวมรายละเอียดของลูกค้าของ ธ.ก.ส. ไว้เป็นที่เรียบร้อย ทั้งข้อมูลในส่วนของประเภทกลุ่มธุรกิจ ช่วงอายุ มูลหนี้ และอุตสาหกรรมแต่ละประเภท เป็นต้น

“ในรายละเอียดในจุดการพักชำระหนี้ ในส่วนนี้ยังไม่มีการหารือถึงความชัดเจน ว่าจะดำเนินการในมิติใดบ้าง รูปแบบจะเป็นเช่นไร แต่ในส่วนของ ธ.ก.ส. เองได้จัดเตรียมฐานข้อมูลไว้เสนอรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว”

นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากสิ่งที่กล่าวมา ธนาคารยังได้เตรียมข้อมูลไว้เสนอรัฐบาลอีกด้วยว่า เมื่อดำเนินการแล้วสิ่งที่กระทบกับ ธ.อ.ส. จะมีในจุดไหนบ้าง เช่น​ จะพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้น​ หรือ​พักชำระทั้้งต้น-ดอกเบี้ย ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีผลกระทบกับธนาคารในด้านกระแสเงินสด​ ถ้าเกิดพักชำระเงินต้นแต่ดอกเบี้ยไม่เดินหน้า ก็จะกระทบงบการเงินของธนาคาร เป็นต้น

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังพบว่า ธนาคารมีลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ ส่วนนี้ธนาคารอาจจะมีการเพิ่มแรงจูงใจและสนับสนุนให้ลูกหนี้กลุ่มนี้เข้ามาชำระหนี้ต่อเนื่องด้วย ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.จะใช้โอกาสในการดำเนินมาตรการดังกล่าว ในการพัฒนาโมบายแบงก์กิ้ง แอปพลิเคชัน A-mobile เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้การนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพ

“ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่า จะมีการพักหนี้ในรูปแบบใด จะพักเฉพาะเงินต้น หรือพักดอกเบี้ยด้วย หากพักดอกไม่เดินจะกระทบงบการเงินของธนาคาร ซึ่งจะต้องคุยรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง รวมถึงต้องคุยกับกระทรวงการคลังว่า หากดำเนินการแล้วจะมีผลอะไรบ้าง ทั้งในด้านมิติลูกค้า กระแสเงินสด และหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 8.46% มูลหนี้ 1.37 แสนล้านบาท โดยธนาคารมีเป้าหมายที่จะลดหนี้เสียให้ลงมาในสิ้นปีบัญชีปี 66 ที่ระดับ 5.5% คิดเป็นมูลหนี้ 90,000 ล้านบาท จากยอดหนี้คงค้าง1.6 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายฉัตรชัย ยังกล่าวถึงในส่วนของนโยบาย​เงินดิจิทัล​ 10,000​ บาท ของรัฐบาลใหม่ ว่า หากรัฐบาลจะให้​ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดำเนินการ ทางธนาคารก็พร้อมรับนโยบาย​ เพราะเนื่องด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีของ ธ.ก.ส.​ มีการพัฒนาแล้ว​ แต่ก็ต้องดูบริบทของลูกค้า ธ.ก.ส. ประกอบด้วย​ เนื่องด้วยส่วนมาก ลูกค้าหลัก ของ ธ.ก.ส. จะประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล​ ไม่ได้ใช่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ในเมือง​ จึงอาจทำให้ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย​ ที่เบื้องต้นรัฐบาลได้ประกาศการใช้จ่ายในระยะ​รัศมี 4 กิโลเมตรวัดจากทะเบียนบ้าน​ ซึ่งจุดนี้ทาง ธ.ก.ส. ก็จะมีความแตกต่างจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น​ๆ ที่อาจจะตอบโจทย์ในเรื่องการกระจายตัวของกลุ่มลูกค้ามากกว่า