ธอส.ห่วงพัฒนาดิจิตอลสูง ดันต้นทุนผู้บริโภคเพิ่มขึ้น​ แนะรัฐวางแผนรองรับ​ให้ดี

  • ด้านเอกชนวอนรัฐเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมดิจิตอลต่อจีดีพี
  • หวั่นสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด

นายฉัตรชัย​ ศิริไลกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์​ (ธอส.)​ วิพากษ์การจัดทำภาพฉายอนาคต (Scenario Foresight) เพื่อคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอีก 10 ปี เราจะอยู่กันอย่างไร โดยตั้งข้อสังเกตุถึงการพัฒนาดิจิตอลที่อาจจะนำมาสู่ต้นทุนที่แพงขึ้นของผู้บริโภค​ ว่า​ ขณะนี้​สถาบันการเงินทุกแห่งได้ให้บริการธุรกรรมการเงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งก็ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในหลายแง่มุม​ แต่การพัฒนาการให้บริการผ่านระบบดิจิตอลต่างๆเพื่อให้เกิดความสะดวกมากขึ้นนั้น​ ถือเป็นต้นทุนที่แพงขึ้นเช่นกัน​ และเมื่อผู้บริโภคหรือประชาชนทุกคนหันมาใช้​ดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ​ ต้นทุนของประชาชนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่​ ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐจะต้องเตรียมแผนรองรับ

“ผมมอง​ Social distancing economy จะเกิดขึ้น​ ซึ่งจะเป็นการทำธุรกิจระหว่างกันโดยไม่ต้องพบเจอตัว​ รัฐเองในฐานะที่เป็นผู้กำกับในการใช้สื่อสารภาคดิจิตอลเพื่อให้เกิดตัวเลขทางเศรษฐกิจจะต้องดูแลให้ดี​ ทุกวันนี้ก็ดีอยู่แล้วแต่ต้องให้รับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป​ และเพื่อป้องกัน เพราะวันหนึ่งเมื่อทุกคนเข้ามาอยู่ในเทคโนโลยีและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกคนก็รู้ว่าไม่มีของฟรีในโลก​ เมื่อมีรายจ่ายขึ้นมา​ ใครจะเป็นคนจ่ายรัฐหรือประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ”

ทั้งนี้ ดิจิตอลทำให้โลกเปลี่ยนแน่นอน​ ทุกคนต้องเตรียมรับมือว่า​ จะมาในรูปแบบไหน​ ซึ่งการพัฒนาของเทคโนโลยีเพื่อสร้างบริการใหม่ๆ ก็จะมีค่าใช้จ่ายเข้ามากระทบ​ เริ่มจากโทรศัพท์มือถือ​ไปจนถึงเครื่องมือทางการแพทย์ในการดูแลสุขภาพ​

อย่างไรก็ตามนอกจากเรื่องต้นทุนการบริโภคที่เพิ่มจากการพัฒนาเทคโนโลยี​ ยังมีด้านมืด​จากการพัฒนาเทคโนโลยีอีกด้วย​ ยกตัวอย่าง​ การเลี้ยงลูกด้วยมือถือ​ ทำให้เด็กบางคนไม่ยอมพูด​ จนต้องพาไปให้แพทย์ทำการ​รักษา​ อีกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่คนเราหลับไปพร้อมมือถือ​ ทำให้เกิดอาการปวดหัว ​ซึ่งถือเป็นผลพวงทางเทคโนโลยี​ ดังนั้น​ ผมจึงมองว่า​ การใช้เทคโนโลยีควรมีความเหมาะสม​ อย่าใช้จนทำให้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมากเกินไป

ด้านนายรุ่งเรือง​ ทิพยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท​นิวแอสเซท แอดไวเซอร์รี่​ จำกัด กล่าวว่า​ รัฐบาลควรให้ความสำคัญและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมหนัก​ อาทิ​ เคมีภัณฑ์​ และ​ ปิโตเลียม รวมถึง​ อุตสาหกรรมใน new s-cruve ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการผลิตในปัจจุบัน​ เพราะหากไม่ส่งเสริมจะส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้ทางการตลาดให้กับประเทศคู่แข่ง​ เช่น​ จีน​ เวียดนาม​ และมาเลเซีย​ ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงไปมากกว่าไทยแล้ว

ขณะเดียวกัน​ ไทยควรมีสัดส่วนอุตสาหกรรมดิจิตอลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)​อย่างน้อย​ 5%สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและอย่างน้อย​ 10%หากรวมธุรกิจอีคอมเมิร์สไปด้วยที่ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนดังกล่าวเพียง​3-4%เท่านั้น​ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนอุตสาหกรรมดิจิตอลต่อจีดีพีสูงถึง​ 10-30%