“ธรรมนัส”ลุยสรุปมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัยแล้งฝนทิ้งช่วง พักหนี้เกษตรกรที่ลงทะเบียน 3 ปี ส่วนผู้ที่ไม่ลงทะเบียนมีมาตรการใหม่พักหนี้ 1 ปี

  • ประชุมเหล่าทัพเพิ่มเครื่องบินโปรยฝนหลวง
  • ลงเรือตรวจสถานการณ์น้ำในลำตะคองใช้เป็นโมเดลตัวอย่าง
  • นายกฯห่วงประชาชนสั่งดูแลภัยแล้งจริงจัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าของวันที่ 22 ก.ค.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสภาพน้ำลำตะคอง ที่วัดท่าตะโก อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยรับฟังรายงานจากรองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 ถึงสถานการณ์ที่ปีนี้มีฝนตกน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 55% และฝนทิ้งช่วง โดยร.อ.ธรรมนัส กล่าวกับประชาชนและข้าราชการที่มาต้อนรับ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยชาวโคราชและสั่งให้ตนมาตรวจงานและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนตอนนี้คือภัยแล้ง ถือเป็นวาระแห่งชาติ จึงขอฝากผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการ ว่าประชาชนคาดหวังจะได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจัง และในวันที่ 25-26 ก.ค. นี้จะมีการแถลงนโยบายเพื่อนำไปปฏิบัติแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน

ขณะเดียวกันได้สั่งการไปที่อธิบดีกรมฝนหลวงให้ทำฝนหลวงให้ประชาชน และสั่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้เจาะน้ำบาดาลลงคลองให้ประชาชน ส่วนระยะยาว เห็นว่าการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนลำตะคองเป็นตัวอย่างที่ดีและจะนำไปเสนอให้เป็นแบบอย่างในแหล่งน้ำภาคอีสาน ส่วนภาคเหนือ หลังจากทำฝนหลวง ฝนตกไปแล้ว 11 จังหวัด แสดงให้เห็นว่าปัญหาต่างๆ หากภาครัฐเอาจริงเอาจังก็จะสามารถแก้ไขได้ ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะสามารถพัฒนาลำตะคองเป็นเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ เหมือนกับคลองในกรุงเทพมหานคร ตนรับปากว่าหน่วยงานไหนที่สามารถประสานงานได้จะติดต่อของบประมาณมาจัดการพัฒนาลำคลองตามนโยบายที่วางไว้

จากนั้นเมื่อเวลา 16.00 น. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากภัยแล้ง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกองทัพไทย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งการด่วนให้เหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลมาช่วยกัน รวมทั้งเร่งทำฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้คลอบคลุมทุกพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง จากปัจจุบันที่กรมฝนหลวงมีเครื่องบิน 23 ลำ จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มอีก 6 ลำ โดยมาจากกองทัพบก 1 ลำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 ลำ กองทัพอากาศ 4 ลำ รวม 29 ลำซึ่งพร้อมขึ้นบินได้ทันที

ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิงจากฝนทิ้งช่วง และต้องประสานให้กระทรวงมหาดไทยประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อออกมาตรการเยียวยาและชดเชยให้เกษตรกร เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 30ก.ค.2562 โดยจะมีเงินชดเชยให้เกษตกรที่ปลูกข้าว 1,113 บาทต่อไร่ พืชไร่ 1,148 บาท/ไร่ พืชสวน และอื่น 1,690 บาท ชดเชยรายละไม่เกิน 30 ไร่ กรณีพืชที่เพาะปลูกถูกดิน หิน ทราย ไม้ โคลนทับให้ช่วยเหลือ 7,000 บาทไม่เกิน 5 ไร่/ราย และกรมการข้าวจะเติมเมล็ดพันธุ์ให้สำหรับแปลงนาที่ตายสนิท ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)จะพักการชำระหนี้ให้เป็นเวลา 3 ปี สำหรับเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ ส่วนผู้ที่ไม่ลงทะเบียนจะมีมาตรการใหม่ออกมาคือ พักชำระหนี้ เป็นเวลา 1 ปี

“ผมให้เวลาหน่วยงานไปสรุปข้อมูลความเสียหาย และมาตรการช่วยเหลือ มาภายใน 4 วัน แล้วผมจะประชุมร่วมกับ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 3 คนก่อนเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต้องทำงานกันตลอดวันเสาร์-อาทิตย์นี้ ก่อนจะนำเสนอ ครม.ต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุม ธ.ก.ส.ได้นำเสนอมาตรการสนับสนุนทางการเงิน โดย1.สินเชื่อเงินด่วน ให้กู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย อัตราดอกเบี้ย เอ็มอาร์อาร์ 7% เพื่อใช้ในการจัดหารปัจจัยการผลิตเพาะปลูกพืชระยะสั้น และทุนหมุนวัยนในการประกอบอาชีพ 2.สินเชื่อฟทื้นฟูและพัฒนาคุรภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติ ให้กู้ไม่เกิน 500,000 บาท/ราย อัตราดอกเบี้ย เอ็มอาร์อาร์ -2% หรือ 5ระยะเวลาการชำระคืนเงินกุ้ไม่เกิน 15 ปีและ 3. สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย สำหรับการนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ป้องกันไม่ฟให้เกิดหนี้นอกระบบ

สำหรับมาตรการบรรเทาภัยแล้งของกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สหกรณ์วงเงิน 1,600 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ย 1% เป็นระยะเวลา 3-5 ปีโดยมีวงเงินกู้ให้สมาชิกรายละ ไม่เกิน 30,000-50,000 บาท ผ่านการดำเนิน 3 โครงการ 1. โครงการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งวงเงิน 600 ล้านบาท มี 2 กิจกรรมได้แก่ ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อพัฒนาอาชีพและจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 2.โครงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อสมาชิกสหกรณ์ วงเงิน 400 ล้านบาทเพื่อจัดหาแหล่งน้ำทำการเกษตร 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ วงเงิน 600 ล้านบาท โดยให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อพัฒนาอาชีพ ทั้งนี้มีสหกรณ์แจ้งความประสงค์เข้าร่วทมดครงการแล้ว 734 สหกรณ์