ตลาดน้ำมันดิบกังวลนโยบายการเงินเข้มงวด ฉุดราคาดิ่งลง 2-3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

  • หวั่นเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และถดถอย
  • กดดันอุปสงค์พลังงานหดตัว
  • เกาะติดการปรับดอกเบี้ยของธนาคารโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 15 – 19 ส.ค. 65 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 22 – 26 ส.ค. 65 โดย ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ล่าสุด ลดลงกว่า 2-3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยนักลงทุนวิตกต่อนโยบายการเงินที่เข้มงวด อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และถดถอย กดดันอุปสงค์พลังงาน

บันทึกการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) ล่าสุด (26-27 ก.ค. 65) ตอกย้ำว่า FOMC มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป วันที่ 20-21 ก.ย. 65 โดยผู้ร่วมประชุมเน้นว่าการชะลออุปสงค์มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยควบคุมเงินเฟ้อ แม้จะยังมีความเห็นต่างในรายละเอียด อาทิ “ระดับดอกเบี้ย” และ “ระยะเวลา” ที่เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) เพิ่มขึ้น 0.61% อยู่ที่ 108.13 จุด สูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ขณะที่ค่าเงินยูโร ลดลง 0.54% อยู่ที่ 1.0033 ดอลลาร์ต่อยูโร อ่อนค่าที่สุดตั้งแต่ 15 ก.ค. 65

ด้านปัจจัยพื้นฐานนักวิเคราะห์ FGE คาดการณ์อุปทานน้ำมันโลกมีแนวโน้มตึงตัวจนถึงปลายปีนี้ เนื่องจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) ต้องจัดหาน้ำมันดิบด้วยเรือขนส่งทางทะเล (Seaborne) จากแหล่งต่าง ๆ นอกเหนือจากรัสเซีย ปริมาณรวม 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดิบรัสเซียของ EU จะเริ่มต้นในวันที่ 5 ธ.ค. 65

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ  โดย สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Crude Throughput) ในเดือน ก.ค. 65 ลดลง 8.8% จากปีก่อน อยู่ที่ 12.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่ มี.ค. 63     ขณะที่   EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ ในสัปดาห์สิ้นสุด 12 ส.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคาดการณ์ปริมาณการผลิต Shale Oil จาก 7 แหล่งผลิตใหญ่ ในเดือน ก.ย. 65 จะเพิ่มขึ้น 141,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 9.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ มี.ค. 63

การเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) มีความคืบหน้า หากอิหร่านและสหรัฐฯ ยอมรับข้อเสนอจาก EU ซึ่งจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ทำให้อุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อิหร่านมีประเด็นเรียกร้องให้สหรัฐฯ รับรองว่าจะไม่ถอนตัวจาก JCPOA อีกในอนาคต

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก ได้แก่   Gazprom รัฐวิสาหกิจก๊าซธรรมชาติของรัสเซียประกาศหยุดดำเนินการท่อก๊าซฯ Nord Stream 1 (กำลังการขนส่ง 167 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน) เพื่อซ่อมบำรุงฉุกเฉินสถานีเพิ่มแรงดัน ในช่วง 31 ส.ค.- 2 ก.ย. 65 และหากเสร็จสิ้น จะกลับมาส่งก๊าซฯ ในอัตราเดิม ที่ 33 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 20% ของกำลังการขนส่ง