ดีอีเอส ย้ำเตือนอย่าแชร์ข่าวปลอม

  • เพราไม่จริง !ภาพประชาชนชาวไทยเสียชีวิต ถูกห่อไว้
  • วอนประชาชนตรวจสอบข้อมูลถูกต้อง

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ มีการแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ บิดเบือนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งสร้างความสับสนและตื่นตระหนกให้กับประชาชนและสังคม ในช่วงวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้

สำหรับข่าวปลอมที่ได้มีการเผยแพร่ในวันนี้ ตามที่มีการเผยแพร่ภาพผ่านโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ภาพประชาชนชาวไทยเสียชีวิต ถูกห่อไว้เป็นจำนวนมาก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการแชร์ภาพผู้เสียชีวิต ถูกห่อไว้จำนวนมาก และกล่าวว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ทางกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า ภาพดังกล่าวไม่ได้เป็นภาพเหตุการณ์ในประเทศไทย โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ตรวจสอบพบว่า ภาพในข่าวที่ถูกแชร์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองเมียวดี รัฐคะหยิ่ง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีประชาชนจำนวน 22 ราย เสียชีวิตจากโควิด-19

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงการต่างประเทศ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.mfa.go.th หรือโทร 02 2035000

ฝากเตือนไปยังผู้ที่สร้างข่าวปลอมต่างๆ ให้หยุดการกระทำนั้นเสีย ทุกภาคส่วนกำลังเร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่ และฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนจะแชร์ หรือส่งต่อข้อความใดๆ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจตกเป็นเหยื่อ หรือถูกหลอกลวง หรืออาจไป

สร้างความสับสน เกิดความตื่นตระหนกแก่ผู้อื่น ซึ่งการกระทำของผู้เผยแพร่ข่าวปลอม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1),(2),(5) ตามแต่พฤติการณ์การกระทำผิด มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

#TheJournalistClub #โควิด19 #วัคซีนโควิด #ล็อกดาวน์ #ข่าวปลอม