ดาวโจนส์ปิดร่วง 482จุด กังวลดอกเบี้ยขึ้นต่อกดดันเศรษฐกิจ

.นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาที่นานขึ้น

.มีแรงเทขายหุ้นลดความเสี่ยง หลังดัชนีภาคบริการขยายตัวดีกว่าคาด

.หุ้นเทสลาร่วง บริษัทเปิดเผยแผนปรับลดการผลิตในประเทศจีน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 5 ธ.ค.ที่ 33,947.10 จุด ลดลง 482.78 จุด หรือ -1.40%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,998.84 จุด ลดลง 72.86 จุด หรือ -1.79% ส่วนดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส ปิดที่ 11,239.94 จุด ลดลง 221.56 จุด หรือ -1.93%

นักลงทุนเทขายหุ้น หลังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกต่อไปและเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น หลังจากเงินเฟ้อยังทรงตัวระดับสูง และสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคบริการดีกว่าคาด

ทั้งนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 56.5 ในเดือนพ.ย. จากระดับ 54.4 ในเดือนต.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 53.1 โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ นอกจากนั้นตะวเลขยังบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานแข็งแกร่งกว่าคาดในเดือนพ.ย.

รายงานล่าสุดระบุว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 89% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะถึงจุดพีกที่ระดับ 4.984% ในเดือนพ.ค. 2566

หุ้นเทสลา ร่วงลง 6.37% หลังจากบริษัทประกาศแผนลดการผลิตรถยนต์รุ่น Model Y ที่โรงงานในเซี่ยงไฮ้ลงกว่า 20% ในเดือนธ.ค. จากระดับของเดือนพ.ย. ทั้งนี้ การร่วงลงของหุ้นเทสลาเป็นปัจจัยฉุดดัชนีแนสแด็ก ดิ่งลงติดต่อกันเป็นวันที่ 2

หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงเกือบ 4% โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 2.74% หุ้นเชฟรอน ดิ่งลง 2.47% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ทรุดตัวลง 5.27% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ลดลง 1.99%

หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงเช่นกัน โดยนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้เสียและการชะลอตัวของยอดการปล่อยกู้ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซบเซา ทั้งนี้ หุ้นเจพีมอร์แกน ร่วงลง 2.85% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ดิ่งลง 2.49% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 2.38% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ร่วงลง 3.39%

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ