ดาวโจนส์ปิดบวก19.80จุด นักลงทุนคาดทิศทางเศรฐกิจฟื้น

.นักลงทุนซื้อหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
.หุ้นเทคโนโลยีถูกถล่มขาย ฉุดแนสแด็กปิดติดลบแรง
.ตลาดเริ่มกังวลกลัง “เยลเลน”ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 4พ.ค.ที่ 34,133.03 จุด เพิ่มขึ้น 19.80 จุด หรือ +0.06% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 4,164.66 จุด ลดลง 28.00 จุด หรือ -0.67% ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส ปิดที่ 13,633.50 จุด ลดลง 261.62 จุด หรือ -1.88%

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ร่วงลงและได้ฉุดดัชนีแนสแด็กดิ่งลงอย่างหนัก หลังจากนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยในงานสัมมนาของนิตยสารดิแอตแลนติกว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงเกินไป อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี นางเยลเลนมองว่า แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป แต่สหรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเหล่านี้เพื่อให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆได้

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อยู่ระหว่างผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 4 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาชาวสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งเพิ่มการจ้างงานและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วย

ดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง 1.89% โดยหุ้นแอปเปิล ดิ่งลง 3.54% หุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 1.31% หุ้นไมโครซอฟท์ ลดลง 1.62% หุ้นอัลฟาเบท ปรับตัวลง 1.55% หุ้นแอมะซอน ร่วงลง 2.2%

ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มวัสดุและดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคาร ดีดตัวขึ้น 1% และ 0.7% ตามลำดับ เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อวัฏจักร (Cyclical Stocks) หรือหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยหุ้นฟรีพอร์ท-แมคมอร์แรน พุ่งขึ้น 1.34% หุ้นอัลโค คอร์ป ทะยานขึ้น 3.88% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ดีดขึ้น 1.08% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก บวก 0.59% หุ้นเจพีมอร์แกน พุ่งขึ้น 1.38%

หุ้นไฟเซอร์ ปรับตัวขึ้น 0.3% หลังบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 0.93 ดอลลาร์ในไตรมาส 1 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.76 ดอลลาร์ ส่วนรายได้จากการขายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ไฟเซอร์พัฒนาขึ้นร่วมกับบิออนเทคนั้นอยู่ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์ มากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์ โดยรายได้จากวัคซีนคิดเป็นสัดส่วนราว 24% ของรายได้ทั้งหมดในไตรมาสแรกของปีนี้

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 5.6% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.44 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจนทำให้ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.8 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน แตะที่ 5.129 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. แต่น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3%