ดาวโจนส์ทะยานขึ้นใกล้ 300 จุด ขานรับเศรษฐกิจสหรัฐฟื้น

.หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจสหรัฐต่างดีดตัวขึ้น
. ตลาดขานรับตัวเลขเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐยังออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่อง
.นักลงทุนคาดหวัง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ “โจ ไบเดน”

เมื่อเวลา 22.15 น. ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 34,170.14 จุด พุ่งขึ้น
295.29 จุด หรือ +0.87% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,912.86 จุด ลดลง 49.82 จุดหรือ -0.36%
ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,196.04 จุด เพิ่มขึ้น 14.87 จุด หรือ +0.36%

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากหุ้นกลุ่มธุรกิจเรือสำราญและสายการบิน รวมทั้งหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจสหรัฐต่างดีดตัวขึ้น ขณะที่มีแรงเทขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้ผลดีจากการปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นสหรัฐได้รับอานิสงส์จากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ต่อสภาคองเกรส รวมทั้งผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน

ขณะที่มีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง และนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป และจะยังไม่ปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แม้เศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวขึ้นก็ตาม

นอกจากนั้น ตัวเลขเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐยังออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60.5 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 59.1 ในเดือนมี.ค.

ดัชนี PMI ดีดตัวขึ้นในเดือนเม.ย.แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ค.2550 และดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ

ดัชนี PMI ได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่แตะระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี ขณะที่การจ้างงานเพิ่มขึ้น แม้ว่าความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตาม สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 60.7 ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 65.0 หลังจากพุ่งแตะระดับ 64.7 ในเดือนมี.ค.แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคการผลิตต่อเนื่อง