ดาวโจนส์ทรุดกว่า 380 จุด เศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณถดถอยชัดเจน

.กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายจีดีพีไตรมาส 2 ติดลบ 0.6%
.นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน แสดงถึงภาวะถดถอย
.ดัชนีดาวโจนส์เข้าสู่ภาวะตลาดหมี หลังจากทรุดตัวลงกว่า 20% จากต้นปี 65

เมื่อเวลาประมาณ 22.10 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 29,298.12 จุด ลดลง
385.62 จุด หรือ -1.30% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 10,747.08 จุด ลดลง 304.56 จุด หรือ -2.76% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ระดับ 3,650.82 จุด ลดลง 68.22 จุด หรือ -1.83%

ดาวโจนส์ดิ่งลงแรงอีกครั้ง หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.6% ในไตรมาสดังกล่าว ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 โดยเป็นการหดต่อเนื่องเศรษฐกิจสหรัฐจากการหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในวันนี้

ดัชนีดาวโจนส์เข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) หลังจากทรุดตัวลงกว่า 20% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้ในเดือนม.ค. ทั้งนี้ สถาบันวิจัย CFRA ระบุว่า สถิติบ่งชี้ว่า เดือนก.ย.เป็นเดือนที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของปี

CFRA ยังระบุว่า ปีนี้ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐ จะทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยิ่งมีแนวโน้มดิ่งลงในเดือนก.ย. เนื่องจากนักลงทุนมักทำการเทขายหุ้นอย่างหนักในเดือนก.ย.และต.ค.ในปีเลือกตั้ง ก่อนที่จะกลับเข้าซื้อหุ้นในไตรมาส 4

หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้น 10.40% สู่ระดับ 33.32 จุดในวันนี้

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การบรรลุภารกิจในการควบคุมเงินเฟ้อของเฟด อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และเขาจะยังไม่พิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกวันนี้ ลดลง 16,000 ราย สู่ระดับ 193,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 213,000 ราย ขณะที่จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 29,000 ราย สู่ระดับ 1.35 ล้านราย