ดาวโจนส์ติดลบกว่า 530 จุด กังวลความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน -เฟดขึ้นดอกเบี้ย

.นักลงทุนเทขายหุ้นหลังกังวลสงครามรัสเซีย-ยูเครนประทุ นาโตเพิ่มกำลังทหาร
.ตลาดจับตาทิศทางดอกเบี้ย ในการประชุมนโยบายการเงินเฟด ในวันที่ 25-26 ม.ค.นี้
.นักวิเคราะห์ติดตามผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสัปดาห์นี้

เมื่อเวลาประมาณ 21.50น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 33,725.96 จุดดิ่งแรง
539.41 จุด หรือ -1.57% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ระดับ 4,316.71 จุด ลดลง 81.23 จุด หรือ -1.85%
ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ระดับ13,496.57 จุด ลดลง 272.36 จุด หรือ -1.98%

รัสเซียตรึงกำลังทหารเกือบ 100,000 นาย ประชิดชายแดนยูเครน ขณะที่การเจรจาระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกยังคงไม่มีความคืบหน้าสหรัฐและอังกฤษได้แจ้งให้ประชาชนของตนเร่งอพยพออกจากยูเครน

ขณะที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประกาศเสริมกำลังทหารทั้งทางบก ทะเล และทางอากาศตามพรมแดนฝั่งตะวันออก เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่รัสเซียอาจทำการโจมตียูเครนในไม่ช้า

ดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นเหนือระดับ 30 ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564

ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 25-26 ม.ค. หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายต่างแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงนางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด, นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟด สาขาชิคาโก, นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย และนางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) พร้อมกับคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้

ทางด้านโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือนก.ค.หรือเร็วกว่านั้น จากปัจจุบันที่พุ่งสูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ไมโครซอฟท์, เทสลา และ แอปเปิล