“ซูเปอร์โพล” เผยเกษตรกรโดนใจมาตรการ “เยียวยาเกษตรกร”ชี้เป็นเรื่องจำเป็นหากไม่ได้ เงินเดือดร้อนหนัก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความสุขเกษตรกร กรณีการแจกเงินเยียวยาของกระทรวงเกษตรช่วงโควิด-19 กรณีศึกษาเสียงของเกษตรกรทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,124 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 – 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา

โดยพบว่า ส่วนใหญ่หรือ 98.1% ระบุความจำเป็นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องแจกเงินเยียวยาช่วงโควิด-19 เมื่อสอบถามถึงการแจกเงินเยียวยาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงโควิด-19 ว่าถูกใจโดนใจหรือไม่พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 95.5% ระบุถูกใจโดนใจ แต่ 4.5% ระบุไม่ถูกใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ถ้ากระทรวงเกษตรไม่แจกเงินเยียวยาเกษตรกรช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้จะเดือดร้อนเป็นทุกข์หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 91.9% ระบุเดือดร้อนเป็นทุกข์ แต่ 8.1% ระบุไม่เดือดร้อน นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือ 94.1% ระบุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเป็นที่พึ่งได้ของเกษตรกร ในขณะที่ 5.9% ระบุพึ่งไม่ได้

 นอกจากนั้นเมื่อมีการสอบถามถึงการรับรู้ต่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผลักดันให้เกิดการแจกเงินเยียวยาเกษตรกร ช่วงโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 91.1% ระบุรู้ แต่ 8.9% ไม่รู้

อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือ การใช้เงินของเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเยียวยาช่วงโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 77.3% จะใช้จ่ายค่าครองชีพ ของกิน ของใช้ประจำวัน รองลงมาคือ 47.4% จะต่อยอดทำมาหากิน เช่น จ่ายค่าเช่าที่ทำกิน ซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อพันธุ์ปลา ซื้ออุปกรณ์จับปลา เครื่องมือทำมาหากิน ฯลฯ 20.9% ระบุจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกหลาน 14.1% ระบุจะเป็นค่ารักษาดูแลสุขภาพ 13.4% ระบุจะเป็นการใช้หนี้ในระบบ 11.8% ระบุจะเป็นการใช้หนี้นอกระบบ

ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือ 97.3% มีความสุขจากเงินเยียวยาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วงโควิด-19 ในขณะที่ 2.7% ไม่มีความสุข