ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจระบุ “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย”ได้ ส.ส.ทะลุ 100ที่นั่ง

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลการศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง โพล เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 4 : ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ (ภูมิภาค) กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 400 เขตเลือกตั้งและผลการประมาณการจำนวน 100 ที่นั่งผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 53,094,778 คนทั่วประเทศรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง ดำเนินโครงการศึกษาแหล่งข้อมูลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยเครื่องมือประเมินขั้นสุทธิ จำนวนตัวอย่างในการศึกษาเพื่อประมาณการรวมทั้งสิ้น 6,990 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 – 15 เมษายน พ.ศ.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

เมื่อพิจารณาความตั้งใจจะไปเลือกตั้งของประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 หรือประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 37,431,819 คน จะไปเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 29.5 หรือ ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 15,662,959 คน จะไม่ไปเลือกตั้ง

ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งจำนวน 400 ที่นั่ง จำแนกตามข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ที่เป็นกลุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาค พบอย่างชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยมีความเป็นไปได้ที่จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งแบบแลนสไลด์ในภาคอีสานและภาคเหนือ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะได้ 133 ที่นั่งหรือร้อยละ 33.3 ของจำนวนทั้งหมดทั่วประเทศ 

โดยพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขตจำนวน 24 ที่นั่งหรือร้อยละ 64.9 ในภาคเหนือ  ส่วนในภาคอีสาน จะได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 78 ที่นั่งหรือร้อยละ 58.6 แต่อาจจะไม่ได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตในภาคใต้  นอกจากนี้พรรคเพื่อไทย จะได้ 8 ที่นั่งหรือร้อยละ 24.2 ในกรุงเทพฯ  ได้ 18 ที่นั่งหรือร้อยละ 20.2 ในภาคกลาง ได้ 4 ที่นั่งหรือร้อยละ 13.8 ในตะวันออก และ 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 5.0 ในภาคตะวันตก

ที่น่าพิจารณาคือ พรรคภูมิใจไทย ที่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตมาเป็นอันดับสอง คือ 101 ที่นั่งทั่วประเทศหรือร้อยละ 25.3 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมด โดยภาพของจำนวนที่นั่ง ส.ส. กระจายไปในทุกกลุ่มจังหวัดของแต่ละภาค โดยจะได้ ส.ส.เขตมากที่สุด ในภาคตะวันตก จำนวน 10 ที่นั่ง หรือร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือกระจายแทรกเข้าไปแต่ละภูมิภาคจำนวนมาก ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 5 ที่นั่งหรือร้อยละ 13.5 กรุงเทพฯ  จำนวน 8 ที่นั่ง หรือ ร้อยละ 24.2 อีสานจำนวน 36 ที่นั่งหรือร้อยละ 27.1 กลางจำนวน 26 ที่นั่ง หรือร้อยละ 29.2 ภาคตะวันออก จำนวน 6 ที่นั่งหรือร้อยละ 20.7 และภาคใต้จำนวน 10 ที่นั่งหรือร้อยละ 16.9 ในการศึกษาครั้งนี้

ในขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ กลับขึ้นมาเป็นอันดับสามจำนวน ส.ส.เขต 53 ที่นั่งหรือร้อยละ 13.3 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยกระจายไปแต่ละกลุ่มจังหวัดของภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือจำนวน 6 ที่นั่งหรือร้อยละ 16.2 กรุงเทพฯ  จำนวน 2 ที่นั่ง หรือร้อยละ 6.1 อีสาน จำนวน 10 ที่นั่งหรือร้อยละ 7.5 ภาคกลางจำนวน 17 ที่นั่งหรือร้อยละ 19.1 ตะวันออกจำนวน 8 ที่นั่งหรือร้อยละ 27.6 ตะวันตกจำนวน 3 ที่นั่งหรือร้อยละ 15.0 และภาคใต้ จำนวน 7 ที่นั่งหรือร้อยละ 11.9

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาอันดับที่สี่ จำนวน ส.ส.เขต 44 ที่นั่งหรือร้อยละ 11.0 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง จำนวน 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 2.7 ในภาคเหนือ ได้ 3 ที่นั่งหรือร้อยละ 9.1 ในกรุงเทพฯ ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 1.5 ในอีสาน ได้ 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 1.1 ในภาคกลาง ได้ 7 ที่นั่งหรือร้อยละ 24.1 ในภาคตะวันออก ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 10.0 ในภาคตะวันตก และ ได้ 28 ที่นั่งหรือร้อยละ 47.5 ในภาคใต้ที่อาจกล่าวได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ แลนด์สไลด์ในภาคใต้แบบยกจังหวัดก็เป็นไปได้ในการศึกษาครั้งนี้

นอกจากนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อันดับห้าจำนวน ส.ส.เขต 35 ที่นั่งหรือร้อยละ 8.8 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยพรรครวมไทยสร้างชาติมีความเป็นไปได้จะได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งจำนวน 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 2.7 ในภาคเหนือ และได้ 6 ที่นั่งหรือร้อยละ 18.2 ในกรุงเทพฯ ได้ 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 0.8 ในอีสาน ได้ 13 ที่นั่งหรือร้อยละ 14.6 ในภาคกลาง ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 6.9 ในภาคตะวันออก ได้ 3 ที่นั่งหรือร้อยละ 15.0 ในภาคตะวันตกและได้ 9 ที่นั่งหรือร้อยละ 15.3 ในภาคใต้

ในขณะที่ พรรคก้าวไกล ได้อันดับที่หก จำนวน ส.ส.เขต 10 ที่นั่งหรือร้อยละ 2.5 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศโดยในการศึกษาครั้งนี้พบว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้ ส.ส.เขตเลยในภาคเหนือ ได้ 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 3.0 ในกรุงเทพฯ ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 1.5 ในอีสาน ได้ 5 ที่นั่งหรือร้อยละ 5.6 ในภาคกลาง ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 6.9 ในภาคตะวันออก ในขณะที่ไม่พบเลยในภาคตะวันตกและภาคใต้