ซูเปอร์โพลชี้”ลางร้ายรัฐบาล”มาเยือนพลังเงียบหนุนลุงเริ่มหาย

ซูเปอร์โพลเผยข้อมูลน่าสนใจ พบ”ลางร้ายรัฐบาล” พลังเงียบลดลง ขณะที่ประชาชนสนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 34.0 ไม่สนับสนุนรัฐบาล 36.6 ขณะที่แนวรบโซเซียลแพ้กระจุยทีมงานสื่อสารต่างคนต่างทำ ส่งผลให้กิจกรรมวิ่งไล่ลุง มีเข้าถึงคนในโลกโซเชียล 7,278,575 คน

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง ลางร้ายรัฐบาล กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 2,827 ตัวอย่าง และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” จำนวน 1,131 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-3 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
สำนักวิจัยซูเปอร์โพลนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง ลางร้ายรัฐบาล กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 2,827 ตัวอย่าง และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” จำนวน 1,131 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-3 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

พบว่า แนวโน้มของกลุ่มพลังเงียบลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงหลังเลือกตั้งที่เคยอยู่สูงถึงร้อยละ 56.1 ในเดือนเมษายน 2562 ร้อยละ 55.5 ในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 46.0 ในเดือนกันยายน ร้อยละ 43.7 ในเดือนตุลาคม ขยับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 49.0 ในเดือนพฤศจิกายน และตกฮวบลงมาอยู่ที่ร้อยละ 29.4 ในการสำรวจล่าสุดต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้

นายนพดล กล่าวว่า นี่คือลางร้ายของเสถียรภาพทางการเมืองและของรัฐบาล เพราะกลุ่มพลังเงียบที่เสมือนเป็นกลุ่มสร้างความสมดุลในการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองของประชาชน กำลังกระจายตัวไปอยู่ในกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 36.6 และกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 34.0 ซึ่งมีสัดส่วนไม่แตกต่างกันมากนักอย่างน่าเป็นห่วงในเรื่องของการเผชิญหน้าห่ำหั่นกัน

ที่น่าพิจารณา คือ เหตุผลที่ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่เอาฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโดยเด็ดขาด และได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาล เช่น ชิมช้อปใช้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การช่วยให้ราคาพืชผลการเกษตร เช่น ราคาปาล์มเพิ่มสูงขึ้นด้วยนโยบายด้านพลังงาน น้ำมัน B10 และโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจรากหญ้า เป็นต้น แต่เหตุผลที่ประชาชนไม่สนับสนุนรัฐบาล คือ เบื่อรัฐบาล ไม่รู้ว่ารัฐบาลทำอะไร ไม่เห็นทำอะไรเลย รู้แต่ข่าวว่ารัฐบาลแย่ แก้เศรษฐกิจล้มเหลว เห็นแก่พวกพ้อง กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม แย่งตำแหน่ง แย่งอำนาจ สืบทอดอำนาจ และประชาชนจำนวนมากมองด้วยว่ามาตรการรัฐบาลไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรมาก ไม่ยั่งยืน แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ วิตกกังวลต่อการเลิกกิจการ รัฐเข้มงวดมาตรการภาษีต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม และการไม่สนับสนุน ธุรกิจ SME จริงจัง กฎระเบียบของรัฐทำให้ประชาชนทำมาหากินขัดสน

นายนพดล กล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll พบว่า การสื่อสารของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เช่น นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ , นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น วิ่งไล่ลุง เป็นต้น เข้าถึงคนในโลกโซเชียลมากถึง 7,278,575 คน และมีการพูดถึงกลุ่มเคลื่อนไหว วิ่งไล่ลุง 146,962 คน ในขณะที่การสื่อสารของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกิจกรรม วิ่งเพื่อแผ่นดิน เข้าถึงคนในโลกโซเชียลเพียง 589,224 คน และล่าสุดมีคนพูดถึงเพียง 1,410 คน

นายนพดล กล่าวอีกว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายการบริหารจัดการข้อมูลและการสื่อสารของรัฐบาลแพ้มาตลอดจนอยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่า “ไม่ไหวแล้ว” เพราะพลังของรัฐบาลที่ทำงานด้านข้อมูลและการสื่อสารอยู่ในสภาพเส้นหวายแตกกันเป็นเส้น ๆ กระจายตัวต่างคนต่างทำ คล้าย ๆ กับแต่ละคนพยายามโชว์ผลงานของใครของมัน ส่งผลให้ข้อมูลในโลกโซเชียลเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแต่คำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดด ๆ มีคำว่า นายกรัฐมนตรี มีคำว่า รมว.กลาโหม ตัวโต ๆ มีแต่เรื่องตำแหน่งและอำนาจ ขาดการเชื่อมโยงกับใจของประชาชน

“ตรงกันข้ามเมื่อมาดูข้อมูลในโลโซเชียลของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กิจกรรมวิ่งไล่ลุง พบว่า มีพลังเป็นกลุ่มก้อนไม่โดดเดี่ยว พบคำ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คู่กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรณิการ์ วานิช และยังพบคำสำคัญของธนาธร คือ กลัวที่ไหน ไม่ถอยไม่ทน และเมื่อสืบค้นการสื่อสารของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบคำ รักพ่อที่สุดในโลก คิดถึงแล้ว นอกจากนี้ เมื่อสืบค้นการสื่อสารกิจกรรมวิ่งไล่ลุง พบที่น่าสนใจขึ้นไปอีกคือวลีเด่น ๆ ว่า ปรบมือสิ รออะไร เบื่อกันทั้งประเทศแล้ว เบื่อนายก เอาเลยฮะ ไม่ถอยไม่ทน และกลัวที่ไหน”นายนพดลกล่าว

และว่า การเมืองเป็นเรื่องของการบริหารอารมณ์ คือ ถ้าคุมอารมณ์คนได้ ก็อยู่ได้ แต่จะเห็นได้ว่าข้อความสื่อสารของฝ่ายหนึ่งใช้กลยุทธ์ปลุกอารมณ์ปั่นความรู้สึกผลักดันให้เกิดพฤติกรรมหมู่ และมีทีมงานรับทอดขยายผลเป็นหนึ่งเดียวกันสอดคล้องกันในโลกโซเชียล ขณะที่ฝ่ายนายกรัฐมนตรีกับทีมงานเน้นที่ความเป็นเหตุผล เพราะคงคิดว่าเอาหลักตรรกคุณงามความดีเป็นตัวนำ เอาความมุ่งมั่นตั้งใจของนายกรัฐมนตรีเป็นพระเอก แต่ตำราเกี่ยวกับการบริหารอารมณ์สาธารณชนชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ตัดสินใจด้วยอารมณ์ก่อน ส่วนเหตุผลค่อยตามมาสร้างความชอบธรรมทีหลัง

“ยิ่งไปดูที่พลังของทีมงานสื่อสารฝ่ายรัฐบาลแล้ว จะพบว่าต่างคนต่างเล่นคนละบท ขาดความเป็นหนึ่ง เหมือนเส้นหวายที่แยกออกเป็นเส้น ๆ ไม่ได้รวบเป็นมัด ๆ ทำให้ฟาดฟันอะไรไม่ได้ผล ไม่ปัง เสมือนวันเปิดคือวันปิด ไม่มีทีมงานรองรับขยายผล ไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นต้องใช้หลัก วิเคราะห์จิต พิชิตใจ เข้าถึงและปฏิสัมพันธ์ทุกกลุ่มครอบคลุมเป้าหมาย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจจะรู้จักเจ้าของหลักการนี้ดีและน่าจะใช้เขาเป็นตัวช่วย ไม่เช่นนั้นลางร้ายรัฐบาลที่ค้นพบครั้งนี้อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นนับเวลาถอยหลังของรัฐบาลที่มาเร็วเกินคาด” นายนพดล กล่าว