“ซื้อพาสปอร์ตย้ายประเทศ” วิธีใช้เงินแก้ปัญหาของมหาเศรษฐีช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด

  • มอนเตเนโกร ครองแชมป์ปที่เศรษฐีอยากถือสัญชาติมากที่สุด
  • ตามด้วยไซปรัส, มอลต้า, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
  • ต้องใช้เงินอย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์าสำหรับถือสัญชาติออสเตรเลีย

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า แม้คนส่วนใหญ่จะท่องเที่ยวได้น้อยลงในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่สำหรับคนที่ร่ำรวยมหาศาลนั้น สามารถ “ซื้อ” พาสปอร์ตของประเทศอื่นๆ ที่ปกติปิดชายแดนจากประเทศของพวกเขาได้

การซื้อพาสปอร์ตไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด รัฐบาลหลายประเทศมีโครงการมอบสัญชาติหรือวีซ่าให้ชาวต่างชาติที่ลงทุนเม็ดเงินในประเทศเหล่านี้ โดยในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา จุดประสงค์ของผู้ที่ลงทุนเพื่อรับสัญชาติใหม่ที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 2 – 50 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น คือเพื่อเสรีภาพในการบ้ายถิ่นฐาน สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือเหตุผลด้านไลฟ์สไตล์เช่น เพื่อเข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้น หรือเสรีภาพพลเมืองที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ บรรดาครอบครัวเศรษฐีก็มีเหตุผลในการซื้อสัญชาติหรือวีซ่าเพิ่มขึ้นด้วยคือ การรับบริการด้านสุขภาพและการหาประเทศอื่นรองรับเผื่อเหตุการณ์ในอนาคต

“โดมินิค โวเล็ค” หัวหน้าแผนกเอเชียของบริษัทให้คำปรึกษาด้านการถือสัญชาติและการหาที่พำนัก Henly & Partners กล่าวกับทางซีเอ็นเอ็นว่า คนร่ำรวยมักไม่วางแผนล่วงหน้า 5-10 ปีแต่วางแผนด้านการเงินและความเป็นอยู่ล่วงหน้านานถึงกว่าร้อยปี โดยเฉพาะในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด เนื่องจากนี่อาจไม่ใช่การระบาดครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิตของพวกเขา

ทางบริษัทยังได้รับคำขอรับบริการจากลูกค้ามากขึ้นถึง 49 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ จำนวนของลูกค้าที่เดินเรื่องลงทุนเพื่อขอสัญชาติและวีซ่ายังเพิ่มขึ้นถึง 42 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

มอนเตเนโกร ครองแชมป์ประเทศที่คนรวยอยากถือสัญชาติมากที่สุด

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มอนเตเนโกรเป็นประเทศที่มีผู้ลงทุนเพื่อถือสัญชาติมากที่สุด โดยจำนวนผู้ขอสัญชาติเพิ่มขึ้นถึง 142 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ตามด้วยไซปรัสที่เพิ่มขึ้น 75 เปอร์เซ็นต์ และมอลตาก็เป็นอีกประเทศที่มีผู้สนใจอยากถือสัญชาติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

“โวเล็ค” อธิบายว่า ไซปรัสและมอลตาได้รับความนิยมเพราะผู้ถือสัญชาติสองประเทศนี้จะได้เสรีภาพในการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่นในสหภาพยุโรปด้วยอัตโนมัติ และยังสามารถเข้าถึงการศึกษาและการบริการด้านสุขภาพที่ดีกว่าด้วย

สัญชาติออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นอีกสองสัญชาติที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากประสิทธิภาพในการรับมือกับภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะนิวซีแลนด์ที่รับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีเยี่ยม

แต่สัญชาติเหล่านี้ก็แลกมาด้วยราคาที่สูง โดยผู้ที่ต้องการถือสัญชาติออสเตรเลียต้องลงทุนด้วยเงิน 1-3.5 ล้านดอลลาร์ ส่วนสัญชาตินิวซีแลนด์มีราคาสูงขึ้นมาที่ 1.9-6.5 ล้านดอลลาร์ โดยโวเล็คกล่าวว่า นักลงทุนหลายคนเลือกวิธีใช้เงินสร้างฟาร์มสัตว์แบบยั่งยืน เพื่อที่พวกเขาจะได้มีสถานที่ให้พักพิง มีอาหารรองรับหากเกิดวิกฤติขึ้นมา

คนร่ำรวยที่ลงทุนซื้อสัญชาติชาวอเมริกัน อินเดีย ไนจีเรีย และเลบานอน มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมา โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ มีชาวอเมริกันเดินเรื่องขอสัญชาติเพิ่มขึ้นถึง 700 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว นอกจากนี้ เศรษฐีจากจีนและตะวันออกกลางก็เป็นกลุ่มใหญ่ที่ซื้อสัญชาติเช่นกัน

เศรษฐีซื้อสัญชาติ หาสถานที่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด

คนร่ำรวยบางกลุ่มลงทุนซื้อสัญชาติเพื่อหาสถานที่หลบภัยให้ครอบครัว หากเกิดเหตุโรคระบาดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดย “นูริ แคทซ์” ผู้ก่อตั้งบริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงินระหว่างประเทศ Apex Capital Partners ระบุว่า กลุ่มคนที่ซื้อสัญชาติเห็นว่าประเทศที่มีขนาดเล็กกว่า สามารถรับมือกับโรคระบาดได้ดีกว่า เช่น ประเทศในแถบหมู่เกาะแคริบเบียนที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่ำมาก ในขณะที่ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก

ประเทศหมู่เกาะเหล่านี้มีค่าลงทุนซื้อสัญชาติที่ไม่สูงมาก โดย “แคทซ์” ยกตัวอย่างว่า หากคุณเป็นเศรษฐีชาวบังกลาเทศ ที่พาสปอร์ตต้องขอวีซ่าเพื่อไปแทบทุกประเทศในโลก แต่หากคุณบริจาคเงิน 1 แสนดอลลาร์พร้อมค่าธรรมเนียมให้รัฐบาลของประเทศแถบแคริบเบียนอย่างแอนติกาและบาร์บูดา ครอบครัวของคุณสี่คนก็จะได้รับพาสปอร์ตของประเทศนี้ภายในเวลาราว 4-6 เดือน

“แคทซ์” ยังกล่าวด้วยว่า การถือพาสปอร์ตของอีกประเทศหนึ่งยังช่วยเปิดพรมแดนให้ผู้ถือพาสปอร์ตได้มากขึ้น หากในอนาคตมีเหตุการณ์ให้เกิดการปิดพรมแดนประเทศอีก

สำหรับโครงการลงทุนแลกสัญชาติหรือถิ่นพำนักในประเทศต่างๆ นั้น ประเทศแรกที่ทำโครงการนี้คือ ประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส ในแถบหมู่เกาะแคริบเบียน ในพ.ศ. 2527 ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะทยอยเปิดโครงการตามมา

บางประเทศอาจกำหนดให้ผู้ขอรับสัญชาติก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งบริษัทที่สร้างงานให้คนท้องถิ่น หรือต้องอาศัยในประเทศตามระยะเวลาที่กำหนด หรือให้ลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล อสังหาริมทรัพย์ หรือโครงการพัฒนาต่างๆ

เงินลงทุนที่แต่ละประเทศกำหนดก็แตกต่างกัน โดยประเทศแอนติกัวและบาร์บูดากำหนดเงินลงทุนที่ 100,000 ดอลลาร์ ประเทศเซนต์คิตส์และเนวิสกำหนดที่ 250,000 ดอลาร์ กรีซกำหนดที่ 280,000 ดอลลาร์ โปรตุเกสกำหนดที่ 380,000 ดอลลาร์ มัลตากำหนดที่ 1.1 ล้านดอลลาร์และไซปรัสกำหนดที่ 2.4 ล้านดอลลาร์

แม้จะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ “แคทซ์” ก็คาดการณ์ว่า ในปีนี้มีผู้ได้รับสัญชาติผ่านการลงทุนเกือบ 25,000 คน เพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อสามปีก่อน ที่คาดว่ามีราว 5 พันคน

อย่างไรก็ตาม การใช้เงินลงทุนแลกกับสัญชาตินี้ก็ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะเป็นเวลาหลายเดือนถึงหลายปี โดยทั่วไป ผู้ยื่นเรื่องขอสัญชาติจะถูกประเมินด้านการงานและประวัติอาญาเพื่อตรวจสอบว่า เงินที่นำมาลงทุนนั้นได้มาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น มอลตา ที่มีขั้นตอนตรวจสอบวิเคราะห์สถานะถึงสี่ขั้นตอน ผู้ยื่นขอสัญชาติต้องระบุทรัพย์สินสุทธิ แหล่งเงินทุน และต้องมีหนังสือรับรองความประพฤติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศที่เกิด ประเทศที่ถือสัญชาติ และประเทศใดๆ ก็ตามที่พวกเขาพำนักเกินหกเดือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

การขอสัญชาติประเทศอื่นมีด้านลบหรือไม่?

ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งฝ่ายผู้ที่ต้องการสัญชาติและฝ่ายประเทศที่มอบสัญชาติ แต่ก็มีผู้ออกมาวิจารณ์ถึงช่องโหว่ของโครงการนี้เช่นกัน เช่น เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น Transparency International ที่ระบุว่า โครงการมอบสัญชาติและที่พำนักในมอลตา ไซปรัส โปรตุเกส และสเปน เป็นการขายสัญชาติของประเทศสหภาพยุโรปให้นักลงทุนต่างชาติโดยมีการตรวจสอบและความโปร่งใสเพียงเล็กน้อย

“เคท ฮูปเปอร์” ผู้ช่วยนักวิเคราะห์นโยบายของศูนย์คลังสมอง Migration Policy Institute กล่าวว่า โครงการขอสัญชาติของหลายประเทศก็ไม่มีการเปิดเผยขั้นตอนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ ทำให้มีคำถามตามมาว่า ขั้นตอนเหล่านี้คัดกรองคนและสืบหาต้นตอเงินของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน

“จอร์จ ดีมาร์ติโน” อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และจริยธรรมระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ ยังเห็นว่า โครงการมอบสัญชาติเหล่านี้เป็นการมอบอภิสิทธิ์ให้กับกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์อยู่แล้ว โดยให้สิทธิ์กลุ่มคนร่ำรวยที่มีความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานน้อยที่สุด ในขณะที่กลุ่มคนที่ต้องการอพยพอย่างแท้จริง เช่น กลุ่มที่มีปัญหาทางการเงิน กลับไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้เลย

ที่มา- https://edition.cnn.com/travel/article/buying-multiple-passports-pandemic/index.html

https://www.voathai.com/a/citizen-by-investment-programs-08142020/5544644.html