“ซีพีเอฟ” ส่ง “กัญชง” เจาะตลาดกลุ่มฟังก์ชั่นนัล

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ให้ความสนใจด้านกัญชงมากกว่าเนื่องจากกฎหมายเปิดกว้าง เมื่อเทียบกับกัญชาที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยซีพีเอฟได้รับอนุญาตให้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ เพาะปลูกได้ซึ่งดำเนินการไปแล้วที่จ.สระบุรี

โดยซีพีเอฟ แบ่งผลิตภัณฑ์จากกัญชงออกเป็น 2 กลุ่มคือ

กลุ่มอาหาร และ เครื่องดื่ม แต่การศึกษายังไม่ประสบผลสำเร็จ ยังมีปัญหาบางอย่างต้องแก้ไข เช่น จำนวนโดสที่เหมาะสมในการใส่หรือเติมเข้าไปในอาหาร สารในกัญชงบางชนิด ไม่ทนความร้อน อายุการจัดเก็บสั้นไป 1-2 วัน ไม่สามารถผลิตและวางจำหน่ายบนชั้นวางได้นานๆ แต่สำหรับการนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มแช่เย็นจะสามารถดำเนินการได้เลย โดยรวมๆ คาดว่าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม น่าจะออกวางจำหน่ายได้เร็วกว่า

“ ซีพีเอฟ วางเป้าหมายสินค้าที่มีส่วนผสมจากกัญชง จะวางจำหน่ายตลาดในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากการผลิตทุกอย่างอยู่ภายใต้เงื่อนไขของไทย ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น บางแห่งยังถูกกำหนดให้เป็นพืชเสพติด ”

ขณะเดียวกันความต้องการของผู้บริโภค มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หากประเทศใดเปิดกว้างและสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟ ทางบริษัทก็พร้อมจะขยายตลาดทั้งการส่งออก และเข้าไปลงทุนในประเทศนั้นๆ ซึ่งงบประมาณถือว่าลงทุนไม่มาก เพราะการผลิตสินค้าสามารถใช้จากไลน์การผลิตที่มีในปัจจุบันได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ การลงทุนจะเน้นไปที่การเพาะปลูกมากกว่า เพราะกัญชงเป็นพืชที่สามารถดูดซับสารเคมีได้ดีมาก หากไม่มีการควบคุมที่ดี กัญชงจะมีสารพิษปนเปื้อน ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ประโยชน์ด้านอาหาร โดยการเพาะปลูกของซีพีเอฟ แม้ไม่ขึ้นขั้นเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ผลผลิตที่ได้ต้องมีความปลอดภัย ในอนาคตหากต้องใช้กัญชงจำนวนมากเพื่อเป็นวัตถุดิบ ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจะเป็นเรื่องใหญ่

ดังนั้นการวิจัยและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องพิจารณาให้ครอบคลุมถึงปัญหาเหล่านี้ด้วย ในขณะที่การคัดเลือกพันธุ์ ต้องคำนึงถึง การเพิ่มและลด สารCBD และTHC ด้วย เช่น CBD มีผลต่อระบบประสาท จะสามารถลดลงและเพิ่ม THC ให้มากขึ้นได้หรือไม่ ซึ่ง ซีพีเอฟ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ และจะมีอีกหลายสถาบัน ในอนาคต เพื่อวิเคราะห์ วิจัย และต่อยอดการใช้ประโยชน์จากพืชดังกล่าว

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมที่มีสารจากกัญชง จะเป็นในรูปแบบอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม แต่ละฟังก์ชั่น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ท้าทาย คาดว่าในปีนี้ จะเห็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกออกจำหน่าย