“จุรินทร์” ถก “วอร์รูม” ดันแผนส่งออกเร่งด่วน

  • เน้นสินค้าเกษตรทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา
  • หวังทำให้ยอดส่งออกทั้งปีโตเป็นบวกมากที่สุด
  • หลังบาทแข็งดันราคาสินค้าไทยพุ่งฉุดส่งออกดิ่ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะทำงานติดตามสถานการณ์ส่งออก (วอร์รูม) ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว และมันสำปะหลัง เพื่อทำแผนเร่งรัดผลักดันการส่งออกว่า ขณะนี้ ศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยลดลงมาก จากค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาสินค้าเกษตรไทยสูงขึ้น จึงเสียตลาดบางส่วนให้กับคู่แข่ง และการส่งออกลดลงมาก โดยสินค้าข้าว นอกจากการประกันรายได้ให้กับผู้ปลูกข้าว ที่กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวันที่ 27 ส.ค.นี้ ใช้วงเงิน 21,000 ล้านบาทแล้ว รัฐบาลยังจะมีมาตรการเร่งรัดการส่ออกแบบเร่งด่วนด้วย เพื่อทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวเป็นบวกให้ได้มากที่สุดด

โดยตลาดเป้าหมายที่จะเร่งส่งออกข้าวในระยะเร่งด่วน ได้แก่ อิรัก ที่ไทยเสียตลาดนี้ เพราะผู้ส่งออกไทยส่งออกข้าวไม่มีคุณภาพ ทำให้อิรักเสียความมั่นใจ และเลิกนำเข้าไทยจนถึงปัจจุบัน แต่ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ จัดทำแผนเร่งรัดการส่งออกแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในเบื้องต้น ได้รับรายงานจากกรมว่า อิรักสนใจจะนำเข้าข้าวจากไทยอีกครั้ง ซึ่งในเร็วๆ นี้ ตนจะนำคณะเดินทางไปเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีกับอิรัก

นอกจากนี้ ยังมีจีน ที่ไทยจะเร่งเจรจาซื้อขายข้าวอีก 300,000 แสนตันสุดท้าย จากสัญญาจีทูจี 1 ล้านตัน และก่อนหน้านี้ได้ส่งมอบแล้ว 700,000 ตัน โดยจะขอให้จีนนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยเพิ่มขึ้น, ฟิลิปปินส์ ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนรูปแบบการนำเข้าจากเดิมที่กำหนดโควตานำเข้า และเปิดประมูลตามโควตาที่กำหนด มาเป็นการนำเข้าโดยเอกชน รวมถึงญี่ปุ่น ที่ไทยจะต้องเจรจาให้เพิ่มโควตาการนำเข้าจากไทยด้วย

ส่วนสินค้ามันสำปะหลัง อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การส่งออกของไทยลดลงมาจากโรคใบด่างระบาดแหล่งผลิต 9 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลจะหามาตรการจำกัดการระบาดของโรค และจะช่วยสนับสนุนท่อนพันธุ์มันให้กับเกษตรกร โดยคาดว่า สัปดาห์นี้ จะมีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา ส่วนในด้านการตลาดจะรุกเจาะตลาดจีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะจีนตอนใต้ อินเดีย ตุรกี และนิวซีแลน์

ด้านน.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในส่วนที่เหลือจากจีน มูลค่า 300,000 ล้านเหรียญฯตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ และจีนตอบโต้ด้วยการจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯวันเดียวกันว่า การที่ทั้ง 2 ประเทศตอบโต้กันในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบกับทั้ง 2 ประเทศเอง เพราะสินค้าสหรัฐฯที่จีนปรับขึ้นภาษีเป็นสินค้าที่สหรัฐฯเป็นผู้ส่ออกรายใหญ่ของโลก เช่น ถั่วเหลือง น้ำมันดิบ รถยนต์ ฯลฯ ส่วนการที่สหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจีน เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งไทยกำลังพิจารณาว่า จะส่งสินค้าเหล่านั้นไปยังทั้ง 2 ตลาด เพื่อสินค้าจากทั้ง 2 ประเทศได้หรือไม่ อย่างไร