GULF ทำกำไร Q1 ปี 67 ที่ 4,152 ล้านบาท ลุยต่อยอด ธุรกิจ Data center

กัลฟ์ พลังงาน
GULF ให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี เผยผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี 67 ทำรายได้รวมที่ 32,280 ล้านบาท มีกำไรอยู่ที่ 4,152 ล้านบาทปักธงมุ่งเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ต่อยอด ธุรกิจ Data center Cloud และ AI เผย ธุรกิจ Data center เฟส 1 จะเสร็จเปิดให้บริการ มี.ค.68

  • เผยผลดำเนินที่ดีขึ้น มาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากโรงที่ปลวกแดง-หินกอง
  • ตั้งเป้าการเติบโตรายได้รวมในปี 67 อยู่ที่ประมาณ 25-30% จากโครงการที่ทยอยเปิดดำเนินการ
  • ชี้ธุรกิจ Data Center ของบริษัทฯ มุ่งเน้นใช้พลังงานสะอาด แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสละประมาณ 25 เมกะวัตต์

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 ว่า

บริษัทฯ มีรายได้รวม อยู่ที่ 32,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จาก 26,994 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2566 และมีกำไรจากการดำเนินงาน อยู่ที่ 4,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 3,668 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มบริษัทฯ มีปัจจัยหลักมาจาก การเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยโครงการกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,650 เมกะวัตต์

ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 1 และ 2 (กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,325 เมกะวัตต์) ไปเมื่อเดือน มีนาคมและตุลาคม 2566 

อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง (HKP) กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,540 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 1 (กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์) ไปเมื่อต้นเดือน มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา 

ทำให้ GULF รับรู้กำไรจากการดำเนินงานเต็มไตรมาสของ GPD หน่วยที่ 1 และ 2 และเริ่มรับรู้ผลกำไรจาก HKP หน่วยที่ 1 ในไตรมาสนี้ 

นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากกลุ่ม GJP ในไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 542 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้า SPP 7 โครงการมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย ที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

โดยจาก 469 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 1 ปี 2566 เป็น 351 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาสนี้ ถึงแม้โรงไฟฟ้า GNS ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม GJP มีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Inspection) ในระหว่างไตรมาส 1 ปี 2567 นี้ 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงไฟฟ้า SPP 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีผลการดำเนินงานที่ใกล้เคียง กับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะกำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น จากค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่ลดลง ถูกชดเชยจากโรงไฟฟ้า ในกลุ่มที่หยุดซ่อมบำรุงใหญ่ (C-Inspection) 

นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้า DIPWP ในประเทศโอมาน จำนวน193 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาส 1/2566 ซึ่งเป็นผลจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้า และน้ำจืด ของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นด้วย

กัลฟ์ Energy
GULF ให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนไปได้ดี

ในส่วนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล Borkum Riffgrund 2 (BKR2) ในประเทศเยอรมนี จำนวน 235 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2567 เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

เนื่องมาจากความเร็วลมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 10.5 เมตร/วินาที ในไตรมาส 1 ปี 2566 เป็น 11.0 เมตร/วินาที ในไตรมาสนี้ อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ภายใต้ GULF1 

ได้ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 มีกำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 113 เมกะวัตต์ 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกชดเชยจากส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้กลุ่มGulf Gunkul จากความเร็วลมเฉลี่ยที่ลดลงจาก 5.8 เมตร/วินาที ในไตรมาส 1 ปี 2566 

ขยับเป็น 4.8 เมตร/วินาที ในไตรมาส 1 ปีนี้ ประกอบกับค่า Ft เฉลี่ยของโครงการในไตรมาสนี้ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจก๊าซนั้น ในไตรมาส 1 ปี 2567 GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก PTT NGD จำนวน 211 ล้านบาท ซึ่งพลิกจากผลขาดทุนจำนวน 177 ล้านบาทในไตรมาส 1/2566 สาเหตุหลักมาจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

ในขณะที่ราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นจาก 65.5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 1 ปี 2566 เป็น 72.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาสนี้ ซึ่งราคาขายส่วนใหญ่ ของโครงการ PTT NGD จะอิงกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุน จะขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ 

GULF กัลฟ์
GULF ให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

ลุยต่อเนื่องพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน GULF บันทึกรายได้ค่าก่อสร้างตามสัญญาสัมปทาน สำหรับงานถมทะเล ของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จำนวน 1,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดยรายได้ค่าก่อสร้างดังกล่าว เติบโตขึ้นตามความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการ ซึ่งโครงการนี้ มีกำหนดถมทะเลแล้วเสร็จ ภายในปี 2567 หลังจากนั้น กลุ่มบริษัทมีแผนจะพัฒนาโครงการสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ต่อไป 

ในไตรมาส 1 ปี 2567 นี้ GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากการลงทุนใน INTUCH จำนวน 1,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 329 ล้านบาท หรือ 26% จาก 1,247 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2566 

โดยสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของ AIS ที่ดีขึ้น จากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น เน้นขายแพ็คเกจที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็นผลให้รายได้เพิ่มขึ้นประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่าย อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ GULF มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน9,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับ 8,143 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2566 

ในขณะที่กำไรสุทธิ ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 3,499 ล้านบาท ลดลง 9% จาก 3,850 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2566 

โดยมีสาเหตุมาจาก การรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง 

จาก 34.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2566 เป็น 36.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด และผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 GULF มีสินทรัพย์รวม 472,868 ล้านบาท หนี้สินรวม 324,563 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 148,306 ล้านบาท 

โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วน ของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.70 เท่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.69 เท่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 

โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการเบิกเงินกู้ยืม จากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ปักหมุดรายได้รวม ปี 67 เติบโตที่ 30% 

นางสาวยุพาพิน กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ ยังคงประมาณการ การเติบโตของรายได้รวมในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 25-30% จากโครงการที่ทยอยเปิดดำเนินการในปีนี้ ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GPD หน่วยที่ 3 (662.5 เมกะวัตต์) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามกำหนด 

รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ HKP หน่วยที่ 1 (770 เมกะวัตต์) ก็ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ตามกำหนดเรียบร้อยแล้วเช่นกัน สำหรับโครงการ GPD หน่วยที่ 4 (662.5 เมกะวัตต์) มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจก๊าซ HKH ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัทฯ ถือหุ้น 49% ได้เริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน แล้วจำนวน 190,000 ตัน 

เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ของโรงไฟฟ้า HKP หน่วยที่ 1 อีกทั้งมีแผนจะนำเข้าเพิ่มเติมอีกประมาณ 450,000 ตัน ในช่วงที่เหลือของปีนี้

“ปัจจุบัน GULF ให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานขยะ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของบริษัทฯ ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593”

โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า ติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียน ที่เปิดดำเนินการแล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนา รวมทั้งสิ้นประมาณ 8,500 เมกะวัตต์ ใน 5 ประเทศ และมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 3,000 เมกะวัตต์ 

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด มากยิ่งขึ้น

Data center กัลฟ์
กัลฟ์ เพิ่มการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ต่อยอดธุรกิจ Data center Cloud และ AI

ชูพลังงานสะอาด ต่อยอดธุรกิจ Data Center 

นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้ Data Center เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคองค์กรธุรกิจ ที่กำลังขับเคลื่อนเข้าสู่Digital Transformation 

โดยการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ และการใช้งานด้าน Artificial Intelligence (AI) เป็นปัจจัยสนับสนุนให้องค์กรในประเทศ และไฮเปอร์สเกลเลอร์ ที่เข้ามาสู่ตลาดในประเทศไทย มีความต้องการจัดเก็บ และจัดการข้อมูลมากขึ้น 

ทั้งนี้ ธุรกิจ Data Center ของกลุ่มบริษัทฯ มุ่งเน้นไปที่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสละประมาณ 24-25 เมกะวัตต์ รวมเป็นประมาณ 50 เมกะวัตต์ โดยเฟสที่ 1 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการประมาณเดือนมีนาคม 2568 

ทั้งนี้ การนำพลังงานสะอาดมาใช้ในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลดังกล่าว จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในโลกดิจิทัล ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วต่อไป

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “กัลฟ์” จับมือซันโกรว์ รุกโซลาร์ จัดหาระบบกักเก็บพลังงาน-อินเวอร์เตอร์