จับนักข่าวเมียนมาเพิ่มอีก 2 คน ผู้นำ ‘อินโด-มาเลย์’ รุมตำหนิรัฐบาลทหาร เรียกร้องเปิดประชุมอาเซียน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สถานการณ์การปราบปรามการประท้วงต้านรัฐประหารในประเทศเมียนมายังคงเป็นไปด้วยความเข้มข้น โดยในวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่น “Mizzima News”  ได้รายงานว่าผู้สื่อข่าวพม่า 2 คน นาม ‘ตาน ไธ่ อ่อง’  อดีตผู้สื่อข่าวและ ‘อ่อง ตูระ’  นักข่าวจาก สำนักข่าว BBC ภาษาพม่าได้ถูกควบคุมตัว โดยชายที่ดูเหมือนจะเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนอกศาลในเมืองหลวงของกรุงเนปิดอว์ ระหว่างการทำข่าวการพิจารณาคดีของ ‘วิ่น ธิน’

เจ้าหน้าที่อาวุโสที่ถูกควบคุมตัวจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคที่บริหารประเทศก่อนการยึดอำนาจการรัฐประหาร

เมียนมากำลังเผชิญกับการประท้วงอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลทหารได้ตอบโต้ด้วยการปราบปรามที่รุนแรงมากขึ้นและความพยายามที่จะ จำกัด ข้อมูลที่เข้าถึงโลกภายนอกอย่างรุนแรงด้วยการตัดการสื่อสารอินเทอร์เน็ตมือถือ การจัดการการใช้อินเทอร์เน็ตในบ้านและสำนักงาน

กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ยิงฝูงชนสังหารประชาชนหลายร้อยคนหนังสือพิมพ์ถูกห้ามไม่ให้เผยแพร่และบรรดาผู้ประท้วงนักข่าวและนักการเมืองถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก

มีนักข่าวราว 40 คนถูกจับกุมตั้งแต่การรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์โดยประมาณครึ่งหนึ่งยังคงถูกคุมขัง 

ไทยเตรียมเคลียร์พื้นที่รับมือผู้อพยพ


สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners) ระบุว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากกองทัพก่อรัฐประหารทำให้มีชาวเมียนมาเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 232 คน โดยหนึ่งในวันนองเลือดที่สุดคือวันที่ 14 มี.ค.ที่มีผู้เสียชีวิตวันเดียวถึง 38 คน

เอเอฟพีรายงานอ้างสื่อท้องถิ่นในวันศุกร์ว่า ผู้คนจำนวนมากพากันอพยพออกจากย่างกุ้งกลับบ้านในชนบท ทำให้ทางหลวงสายหลักเส้นออกจากย่างกุ้งทางทิศเหนือการจราจรติดขัด ชาวบ้านคนหนึ่งที่อยู่ใกล้กับเขตที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยิงผู้ประท้วงตายหลายคนในสัปดาห์นี้บอกกับเอเอฟพีว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยและบางคืนก็นอนไม่หลับ กลัวมากว่าเรื่องเลวร้ายจะเกิดตามมาเพราะที่ที่เธออยู่นั้นตึงเครียดมาก เจ้าหน้าที่จับกุมคนตามท้องถนน

เอเอฟพีอ้างคำกล่าวของนายพงศ์รัตน์ ภิรมรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ด้วยว่า ทางการไทยกำลังเตรียมที่พักพิงไว้รองรับ หากมีผู้อพยพหนีความไม่สงบข้ามมาจากฝั่งเมียนมา โดยทางจังหวัดสามารถรองรับผู้อพยพข้ามแดนได้ระหว่าง 30,000-50,000 คน แต่เขายืนยันว่า ถึงขณะนี้ยังไม่มีชาวเมียนมาข้ามแดนมา

อินโดมาเลย์รุมตำหนิและเรียกร้องยุติความรุนแรงทันที

มาตรการที่โหดร้ายมากขึ้นของรัฐบาลทหารทำให้เกิดการประณามจากกลุ่มทูตจากประเทศตะวันตกในวันศุกร์รวมทั้งคำตำหนิที่รุนแรงผิดปกติจากผู้นำในอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย แถลงเรียกร้องให้การใช้ความรุนแรงในเมียนมายุติทันที ว่า “เพื่อไม่ให้ความสูญเสียมากไปกว่านี้ ในนามรัฐบาลและชาวอินโดนีเซีย ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต”

ผู้นำอินโดนีเซียยืนยันด้วยว่าจะติดต่อสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดีน วัดเดาละห์ แห่งบรูไน ในฐานะประธานอาเซียนประจำปีนี้ ให้พระองค์ทรงจัดการประชุมระดับผู้นำอาเซียนเป็นวาระฉุกเฉิน เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตในเมียนมา

ด้านนายมูฮิดดิน ยาสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แถลงขานรับสนับสนุนรัฐบาลอินโดนีเซียทันที ว่าควรต้องเปิดการประชุมด่วนในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียน และแถลงเตือนไปยังคณะรัฐประหารเมียนมา ด้วยว่า การใช้อาวุธร้ายแรงต่อประชาชนมือเปล่านั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้