คลังลงดาบตัดสิทธิ์ร้านค้า “ชิมช้อปใช้” รับแลกเงิน 1,000 บาทเป็นเงินสด

  • “กรุงไทย” เผยยอดใช้วันแรกแตะ 1 ล้านบาท
  • ยันไม่เลื่อนเวลาลงทะเบียนเป็น 8 โมงเช้า
  • ยอมรับระบบล่าช้าเพราะคนเข้าลงสมัครใช้สิทธิ์จำนวนมาก

นายอุตตม สาวนายน รมว. เปิดเผยว่า กรณีโครงการชิมช้อปใช้ที่พบร้านค้าเชิญชวนให้ผู้ลงทะเบียนใช้วงเงิน 1,000 บาท ที่ได้รับจากรัฐบาลไปแลกรับเงินสดนั้น ขณะนี้มีการตัดสิทธิ์ร้านค้าดังกล่าวแล้ว และหากตรวจพบอีกจะถูกตัดสิทธิ์ทันที โดยธนาคารกรุงไทยมีระบบในการตรวจสอบว่าร้านใดขายสินค้าผิดวัตถุประสงค์บ้าง ส่วนการเข้าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” นั้นอาจมีปัญหาติดขัดบ้างจึงขออภัยในข้อผิดพลาดด้วย

“ในวันที่ 27 ก.ย.2562 มีประชาชนลงทะเบียนโครงการชิมช้อปใช้ครบ 1 ล้านคน ตั้งแต่เวลา 02.56 น. ทำสถิติเร็วกว่าทุกวัน อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาขยายสิทธิ์จากที่กำหนดไว้ 10 ล้านราย ส่วนการจะเปลี่ยนระยะเวลาลงทะเบียนจากเดิมเริ่มหลังเที่ยงคืนมาเป็น 08.00 น. ตามกระแสข่าวนั้น ได้ให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ตัดสินใจ”

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การใช้จ่ายโครงการชิมช้อปใช้ในวันแรกมีประชาชนใช้จ่ายแล้วประมาณ 1 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 80% จากจำนวนผู้ได้สิทธิ์ 807,321 ราย ที่ผ่านเกณฑ์และโหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ปัญหาที่พบบ่อยในการยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ เป๋าตัง คือ ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ เนื่องจากบัตรประชาชนอาจทำมานาน และหน้าตาปัจจุบันเปลี่ยนไป รวมถึงไม่ได้รับข้อความ SMS ตอบกลับหลังจากขั้นตอนสแกนใบหน้านั้น อาจเกิดจากระบบที่ล่าช้า ซึ่งก็ส่งผลทำให้ประชาชนต้องมายืนยันตัวตนที่สาขาธนาคารประมาณ 5,000 ราย

“ในเรื่องระบบอาจมีปัญหาบ้างเพราะประชาชนให้ความสนใจโครงการนี้จำนวนมาก โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา มีประชาชนกว่า 700,000 ราย มารอลงทะเบียนหลังเวลาเที่ยงคืนจำนวนมาก ทำให้ระบบล่าช้า อย่างไรก็ตามในส่วนข้อเสนอเลื่อนเวลาการลงทะเบียนมาเป็นเวลา 08.00 น.นั้นคงไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเงื่อนไขของกระทรวงการคลังที่กำหนดไว้”

ส่วนกรณีร้านค้าประกาศรับแลกวงเงินเป็นเงินสดนั้น ขณะนี้ธนาคารเข้าไปตรวจสอบและระงับการเข้าถึงแอปฯ ถุงเงินไปแล้วหลายสิบราย โดยมีทั้งการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)ตรวจสอบ หากมีการโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์ โดยธนาคารจะตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดทั้งจากที่ประชาชนแจ้งเข้ามาและการตรวจสอบผ่านระบบต่างๆ  

“อยากเตือนว่าถ้ามีการกระทำผิดเงื่อนไข ธนาคารสามารถตรวจสอบเจอได้เกือบทุกช่องทาง และเมื่อระงับการเข้าถึงแอปฯแล้ว จะแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และกรมบัญชีกลางเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป”