ครม.ไฟเขียวแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 13 มีหลัก 5 ประการ ปักหมุดตัวชี้วัดก้าวผ่านกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

วันนี้ (3 พ.ค.65) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเรามีการออกแบบแผนนี้มาจากฐานคิด 4 ประการ 1.เศรษฐกิจพอเพียง 2.ความสามารถในการที่จะล้มแล้วลุกให้ไว เดินไปข้างหน้าให้ได้ 3.เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และ 4.การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว 

ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของแผนฯฉบับที่ 13 มีหลัก 5 ประการ 1.การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม2.การพัฒนาคนสู่โลกยุคใหม่ 3.การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม 4.การเปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน และ 5.การเสริมสร้างความสามารถของไทยในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้โรคอุบัติใหม่

“นี่คือแนวทางในการบริหารประเทศต้องเป็นแบบนี้ เพราะทุกคนเกี่ยวพันกันไปหมด เราต้องหาปัญหาให้เจอและหาวิธีการ วางแผนงาน ค่าใช้จ่าย งบประมาณต่างๆให้พอเพียงไปด้วย เราก็ตั้งเป้าว่าจะทำยังไงจากแผนฉบับนี้ ทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 3 แสนบาท ต้องพยายามอย่างยิ่งยวด แต่ขีดความสามารถของคนทั้ง 8 ด้าน อยู่ในระดับสูงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับที่สูง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดของไทยมี 13 กฎหมายในการพัฒนา 4 มิติ ประกอบด้วย  1.การบริการ โอกาสและความสามารถ 2. ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม 3.ความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4.การผลักดันและพลิกโฉมประเทศ โดยขณะนี้ตนได้สั่งการให้รัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำหมุดหมายของแผนฉบับที่13 ไปพิจารณา แบ่งเป็นแผนปฏิบัติการในระดับต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ พลิกโฉมเป็นประเทศที่มีการพัฒนาสูงขึ้น ยกระดับจากประเทศรายได้ปานกลาง ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราทำไม่ได้ ถ้าทุกคนร่วมมือกันโดยลดความขัดแย่งระหว่างกันให้มากที่สุด 

ด้าน น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะนำมาใช้ในปี 2566-2570 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และมอบหมายให้ สศช.นำเสนอร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ส่งต่อรัฐสภาเพื่อทราบ ก่อนกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป

สำหรับร่างแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 เป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ประเทศควรมุ่งเน้นในระยะ 5 ปีถัดไปคือปี 2566-2570 เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ สำหรับตัวชี้วัดที่สำคัญได้แก่ รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300,000 บาท โดยปี 2564 รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 7,097 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 227,000 บาท, ดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับสูง เท่ากับ 0.7209  โดยปี 2563 อยู่ที่ 0.6501, ความแตกต่างของความเป็นอยู่หรือรายจ่าย ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10% และต่ำสุด 40% มีค่าต่ำกว่า 5 เท่า โดยปี 2562 มีค่าเท่ากับ 5.66 เท่า, ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบเคียงกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยปี 2561 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานลดลง 16% และดัชนีรวมสะท้อนความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงมีค่าไม่ต่ำกว่า 100

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หมุดหมายการพัฒนาของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 มีทั้งหมด 13 หมุดหมาย จำแนกออกเป็น 4 มิติได้แก่ 1.มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย จำนวน 6 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง, ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน, ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก,ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง,ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค และไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน

2.มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม มี 3 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้, ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน และไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

3.มิติความยั่งยืน ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

4.มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ มี 2 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน