การสังหารนายพลซูลีมานีจะจุดชนวนสงครามหรือไม่

ชาวอิหร่านในกรุงเตหะรานประท้วงการสังหารนายพลซูลีมานี ภาพจาก AFP

โจนาธาน มาร์คัส ผู้สื่อข่าวสายทหารและการทูตจากสำนักข่าวบีบีซี ตอบข้อสงสัยของแฟนข่าวบีบีซีเกี่ยวกับผลที่ตามมาจากการลอบสังหารนายพล พลตรี ซูลีมานี วัย 62 ปี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ ผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการทางทหารของอิหร่านในตะวันออกกลาง ตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่สนามบินในกรุงแบกแดด เช้าวันที่ 3 ม.ค. ตามเวลาอิรักนี้ ว่า เป็นไปได้แค่ไหนที่เหตุการณ์นี้จะกลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3

มาร์คัส ให้ความเห็นว่า แม้นักสังเกตการณ์บางคนจะฟันธงว่าการสังหารนายพลซูลีมานี เท่ากับสหรัฐฯ “ประกาศสงคราม” กับอิหร่าน แต่เหตุการณ์นี้ไม่ควรถูกประเมินไปในทางร้ายหรือดีเกินไป
การสังหารนายพลซูลีมานีจะไม่กลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะยังขาดผู้เล่นสำคัญที่จะทำให้เกิดสงคราม เช่น รัสเซีย และจีน ซึ่งไม่ได้มีบทบาทอะไรในความขัดแย้งครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์ในตะวันออกกลางและบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ การแก้แค้นครั้งใหญ่ของอิหร่านเป็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งปฏิบัติการนี้จะนำมาซึ่งการโจมตีและตอบโต้กันไปมา จนอาจกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งระหว่างสองประเทศ

เราลงมือเพื่อหยุดสงคราม ไม่ใช่เพื่อก่อสงคราม ภาพจาก รอยเตอร์

การล้างแค้นของอิหร่านอาจมุ่งเป้าไปที่ขุมกำลังของกองทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางหรืออะไรก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และอิหร่านประเมินว่าสามารถโจมตีได้

การสังหารบุคคลระดับนี้ถูกกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
ทางการสหรัฐฯ อาจอ้างว่าซูลีมานีอยู่เบื้องหลังการโจมตีกองทัพอเมริกันในอิรัก ซึ่งถูกส่งไปประจำการในพื้นที่ตามคำร้องขอของรัฐบาลอิรักชุดปัจจุบัน สหรัฐฯ เชื่อว่าซูลีมานีเป็นนายพลมือเปื้อนเลือดที่ทำให้กำลังพลของกองทัพสหรัฐฯ จำนวนมากต้องเสียชีวิต ขณะที่หน่วยรบพิเศษคุดส์ที่ซูลีมานีเคยเป็นผู้บัญชาการอยู่ก็ถูกทางการสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเป็นองค์กรก่อการร้าย ดังนั้นถ้ายึดตามกฎหมายสหรัฐฯ การสังหารซูลีมานีจึงอาจเป็นปฏิบัติการที่ไม่ผิดกฎหมายแต่ ศ.แมรี เอลเล โอ’คอนเนล นักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศชื่อดังแห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอเทรอดาม ให้ทัศนะต่อประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การปกป้องตัวเองล่วงหน้าไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างให้การลอบสังหารกลายเป็นสิ่งชอบธรรมทางกฎหมายได้ ไม่มีข้ออ้างใดทำได้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้คือกฎบัตรสหประชาชาติซึ่งนิยามการป้องกันตัวเองว่าเป็นสิทธิที่จะตอบโต้ต่อการโจมตีทางอาวุธที่รุนแรงและเกิดขึ้นจริง” ศาสตราจารย์ระบุ

“การใช้โดรนสังหารนายพลคาเซ็ม ซูลีมานี ในกรุงแบกแดด ไม่ใช่การปกป้องตัวเองของสหรัฐฯ จากการโจมตีทางอาวุธ อิหร่านไม่ได้รุกรานดินแดนในอธิปไตยของสหรัฐฯ ” เธออธิบาย “ในกรณีนี้ สหรัฐฯ ไม่เพียงกระทำการวิสามัญฆาตกรรม แต่ยังเปิดปฏิบัติการโจมตีที่ผิดกฎหมายในอิรัก” ศ.โอ’คอนเนลสรุป

คาเซ็ม ซูลีมานี เป็นผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ภาพจาก GETTY Images

สหประชาชาติมีจุดยืดอย่างไรต่อเรื่องนี้

ยังตอบไม่ได้ว่าสหประชาชาติมีทัศนะอย่างไรต่อเรื่องนี้ เพราะยังไม่มีแถลงการณ์ใด ๆ ออกมาอย่างเป็นทางการ มีเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้แทนบางคนเท่านั้น

ถ้าถามต่อว่าแล้วคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติมีท่าทีอย่างไรบ้างหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้และยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า เขามีความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ที่ตึงเครียดในตะวันออกกลาง

“นี่เป็นช่วงเวลาที่ผู้นำทุกฝ่ายจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด โลกเราไม่อาจปล่อยให้มีสงครามอ่าวเกิดขึ้นอีกครั้งได้” นายฟาร์ฮาน ฮัค โฆษกของนายกูแตร์เรสระบุในแถลงการณ์

ปฏิบัติการนี้เกิดขึ้นเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นเรื่องการถอดถอนนำประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งหรือไม่

เป็นเรื่องง่ายที่จะตั้งข้อสังเกตทำนองนี้ เพราะการเมืองในประเทศย่อมเป็นประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาด้วยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง แต่ปฏิบัติการลอบสังหารครั้งนี้มีที่มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ โอกาส และสถานการณ์

การสังหารนายพลซูลีมานีเกิดขึ้นในขณะที่การโจมตีฐานที่มั่นของสหรัฐฯ ในอิรักขยายวงมากขึ้น ขณะเดียวกันกับที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กำลังประเมินว่าอาจมีการเตรียมการโจมตีครั้งใหม่ในอนาคตอันใกล้

ส่วนโอกาสในการลงมือสังหารนั้นก็เป็นผลมาจากการข่าวที่แม่นยำของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ซึ่งการข่าวที่มีประสิทธิภาพและผิดพลาดน้อยมากเช่นนี้ เป็นปัจจัยที่ทางอิหร่านต้องคิดให้หนักก่อนจะตัดสินใจปฏิบัติการตอบโต้ใด ๆ

ในปีที่จะมีการเลือกตั้ง สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ คือหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตของชาวอเมริกันในภูมิภาคนี้

ปฏิบัติการสังหารซูลีมานีดูเหมือนจะผิดไปจากแนวทางของประธานาธิบดีทรัมป์อยู่สักหน่อย เพราะเขาเป็นคนที่พูดจาดุเดือด แต่เมื่อถึงเวลาลงมือทำจริง ๆ แล้วมักจะระมัดระวังอย่างมาก

อิหร่านมีศักยภาพด้านนิวเคลียร์มากน้อยแค่ไหน และมีความเสี่ยงหรือไม่ที่จะล้างแค้นด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อิหร่านไม่มีโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็มีความพร้อมหลายอย่างทั้งเครื่องมือและองค์ความรู้ที่จะริเริ่มโครงการดังกล่าวได้ อิหร่านยืนยันเสมอว่าไม่ต้องการระเบิด แต่คำถามก็คือความไม่พอใจสหรัฐฯ ที่พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ จะชักนำให้อิหร่านหมดความอดทนและล้มเลิกคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับนานาชาติว่าจะไม่ยุ่งกับอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ คำตอบก็คือมีความเป็นได้

นายพลซูลีมานีไปทำอะไรในอิรัก และรัฐบาลอิรักมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร

ไม่ชัดเจนว่านายพลซูลีมานีเดินทางไปอิรักทำไม อาจเป็นไปได้ว่าเป็นภารกิจเกี่ยวกับกองกำลังชีอะห์ที่อิหร่านให้การสนับสนุนอยู่ เพราะผู้ที่ถูกสังหารพร้อมกันกับเขา คือ อาบู มาห์ดี อัล-มูฮาดิส เป็นผู้นำกลุ่มคาตาอิบ เฮซบอลเลาะห์ (กลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการยิงจรวดโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้) และเขายังเป็นรองผู้บัญชาการกองกำลังร่วมปกป้องอิหร่านในอิรักอีกด้วย

รัฐบาลอิรักกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการสังหารเกิดขึ้นในประเทศอิรัก ซึ่งเป็นพันธมิตรของทั้งอิหร่านและสหรัฐฯ ทหารอเมริกันก็ยังประจำการอยู่ในอิรักเพื่อสนับสนุนการต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)

สำนักนายกรัฐมนตรีของอิรักออกแถลงการณ์ประณามการสังหารนายพลซูลีมานี พร้อมกับยกย่องซูลีมานี และผู้นำกองกำลังที่ถูกสังหารพร้อมกันกับเขาว่าเป็น “ผู้พลีชีพเพื่อศาสนา” ซึ่งอยู่เบื้องหลัง “ชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือไอเอส” รัฐบาลอิรักยังประณามสหรัฐฯ ว่าละเมิดข้อตกลงว่าด้วยปฏิบัติการของสหรัฐฯ ในอิรัก

สหรัฐฯ และอิหร่านมีบทบาทอย่างไรในอิรัก
อิหร่านเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของรัฐบาลอิรักที่นำโดยมุสลิมชีอะห์ และนับว่ามีบทบาทสำคัญในอิรักผ่านกองกำลังกล่าวถึงข้างต้น ขณะที่สหรัฐฯ มีกำลังพลประจำการอยู่ในอิรักราว 5,000 นาย โดยมีภารกิจในการช่วยฝึกทหารและเป็นที่ปรึกษาให้กองทัพอิรักในการปราบปรามกลุ่มไอเอสที่ยังหลงเหลืออยู่

สหรัฐฯ และอิหร่าน กำลังงัดข้อกันอยู่ในอิรัก คำถามใหญ่ในตอนนี้คือสถานการณ์จะดำเนินไปจนถึงจุดวิกฤตที่สหรัฐฯ ต้องถอนตัวออกจากอิรักหรือไม่