“กสทช.” ร่วมกับ ศปอส.ตร. ตรวจค้นจับกุมผู้กระทำความผิดตาม กฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม

.ยึดของกลางเป็นเครื่องวิทยุสื่อสาร โทรศัพท์เคลื่อนที่
.ไม่ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน
.กว่า 9,195 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 15.83 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 ก.พ. 2565) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)​ร่วมกับ พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวผลการตรวจค้นและจับกุมบริษัท ดี ดัง จำกัด ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยนายไตรรัตน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 สำนักงาน กสทช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ดำเนินการตรวจสอบการจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมของร้านค้าออนไลน์ หรือร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ พบว่า บริษัท ดี ดัง จำกัด ได้มีการจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมหลากหลายประเภทที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม ตรวจสอบพบเครื่องวิทยุคมนาคม ดังนี้ 1.เครื่องวิทยุคมนาคม ประเภทวิทยุสื่อสาร ตราอักษร BAOFENG แบบ/รุ่น BF-888s 2.โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ปรากฏตราอักษร กล่องสีฟ้า 3.โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ปรากฏตราอักษร กล่องสีดำ 4.โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ปรากฏตราอักษร กล่องสีขาว 5. IPAD/TABLET ไม่ปรากฏตราอักษร ชนิดใส่ซิมการ์ดได้ รวมจำนวน 9,195 ชิ้น โดยทั้งหมดเป็นเครื่องฯ ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ (Type Approval Test) และไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต (เครื่องเถื่อน)

ทั้งนี้การจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวของบริษัท ดี ดัง จำกัด เป็นการกระทำความผิด ในข้อหา มี นำเข้า และค้า ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 โดยต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จากการตรวจค้นจับกุม ณ สถานที่ตามหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทสาคร ปรากฏของกลางทั้งหมด 5 รายการ จำนวน 9,195 ชิ้น รวมมูลค่า 15,825,000 บาท ที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้ดำเนินการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมและวิทยุคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีประชาชนหรือบุคคลทั่วไป ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผู้จำหน่ายและผู้ใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคม ที่ขาดความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาต หรืออะไรเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจำหน่ายหรือใช้งาน ตามที่กฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมกำหนดไว้ ซึ่งประชาชนผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.nbtc.go.th หรือสอบถามมาที่สำนักงาน กสทช. Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย)

“สำนักงาน กสทช. จะดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อคุ้มครองประชาชนให้สามารถซื้อเครื่องวิทยุคมนาคมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” นายไตรรัตน์ กล่าว