กรมอนามัย แนะ เทศกาลกินเจ ยึดหลัก 5 ล.

Bangkok, Thailand - October 5, 2013: The yellow flag decorated in Thai vegetarian food festival at Bangkok, Thailand.
  • “เลือก ล้างผัก ล้างมือ เลี่ยง ลด”
  • สร้างสุขภาพดีได้โปรตีนและคุณค่าโภชนาการครบ

 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานตรวจเยี่ยมเสริมพลังและรณรงค์ “กินเจ อิ่มบุญ อิ่มใจ มือสะอาด สุขภาพดี” ณ ศูนย์อาหารยิ่งเจริญพลาซ่า (ตลาดยิ่งเจริญ) กรุงเทพมหานคร ว่า ในช่วงเทศกาลกินเจของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 6-14 ตุลาคม 2564 สิ่งที่กรมอนามัยเน้นย้ำมาโดยตลอดคือสุขอนามัยในการปรุงประกอบอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากการปรุงอาหารเจจำหน่าย มักปรุงประกอบในปริมาณมาก ซึ่งพบความเสี่ยง เช่น อาหารที่ปรุงไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ กรมอนามัยจึงแนะนำหลัก 5 ล. เพื่อสุขภาพที่ดี ดังนี้ 

1. ล : เลือกวัตถุดิบ ที่ใช้ในการ ปรุงประกอบอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และเลือกกินอาหารจากร้านอาหารที่สะอาด ผ่านมาตรฐาน “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย : Clean Food Good Taste เช่น ผักสด ผลไม้ โปรตีนเกษตร มาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ โดยเลือกซื้อวัตถุดิบจากตลาดที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน “ตลาดสดน่าซื้อ” ของกรมอนามัย ซึ่งมีอยู่จำนวน 1,565 แห่งทั่วประเทศ ผ่านระดับดีและดีมาก จำนวน 1,351 แห่ง หรือร้อยละ 85.82 และตลาดที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานราชการ อีกทั้งเครื่องปรุงรสต้องมีเครื่องหมาย อย. เครื่องหมาย มอก. เป็นต้น

 2. ล : ล้างผัก ผลไม้ให้สะอาด ก่อนกินหรือก่อนนำผักและผลไม้มาปรุงอาหาร ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งด้วย 3 วิธี ดังนี้ วิธีที่ 1) การล้างด้วยน้ำไหล สามารถลดสารพิษได้ ร้อยละ 25-65 ผักและผลไม้คงความสด วิธีที่ 2) การล้างด้วยผงฟู หรือเบคกิ้งโซดาช่วยลดสารพิษได้ถึง ร้อยละ 90-95 และ วิธีที่ 3) การล้างด้วยน้ำส้มสายชู ช่วยลดสารพิษได้ ร้อยละ 60-84 และยังสามารถล้างไข่พยาธิได้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ข้อแนะนำถัดมา คือ 3. ล : ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ มือของ ผู้ปรุง – ผู้เสิร์ฟ ควรหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ 7 ขั้นตอน เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อและหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สอดคล้องกับคำขวัญ วันล้างมือโลก 15 ตุลาคม 2564 “อนาคตของเราอยู่ที่มือ ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน : Our Future is at Hand – Let’s Move Forward Together” และควรสวมถุงมือหรือใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารในระหว่างการเตรียมปรุงอาหาร เน้นการปรุงให้สุก ป้องกันการปนเปื้อนระหว่างอาหารดิบและอาหารสุกผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น มีด เขียง และที่สำคัญคือปกปิดอาหารให้สะอาด เพื่อป้องกันฝุ่นละอองหรือแมลงที่อาจไต่ตอม 

4. ล : เลี่ยงอาหารที่มีแป้งและไขมันมาก อาหารเจส่วนใหญ่ประกอบด้วยแป้ง ธัญพืช ถั่ว งา เต้าหู้ อาจทำให้ขาดโปรตีนและธาตุเหล็กได้ จึงควรเลือกพืชที่ทดแทนโปรตีน ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง โปรตีนเกษตร เต้าหู้ และผักใบเขียวเข้ม ซึ่งมีธาตุเหล็กสูง นอกจากนี้ ควรเลือกผักผลไม้ให้หลายสี เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุครบตามที่ร่างกายต้องการ 

5. ล : ลด หวาน มัน เค็ม เสริมโปรตีน  จากถั่ว การปรุงอาหารเจที่ดียังคงต้องเน้นกินอาหารครบ 5 หมู่ นอกจากการกินผักให้หลากหลายแล้ว สามารถกินโปรตีนเกษตรทดแทนได้ ที่สำคัญ คือ ต้องไม่เค็ม ไม่หวาน ไม่มัน มากเกินไป

ทั้งนี้ การเลือกซื้ออาหารเจทั้งแบบสำเร็จรูป อาหารคาว หวาน อาหารถุง และอาหารกระป๋อง ก่อนเลือกซื้อควรคำนึงถึงคุณค่า ราคา ความสะอาด ความปลอดภัย และขอความร่วมมือร้านค้าที่จำหน่ายอาหารเจลดการใช้โฟมบรรจุอาหารเปลี่ยนเป็นใช้ภาชนะจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้แทน พร้อมเน้นย้ำผู้บริโภคคุมเข้มพฤติกรรมกินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และหมั่นล้างมือ เพื่อเป็นเกราะป้องกันโรค