กรมทางหลวงเดินหน้าลดอุบัติบนท้องถนน ผุด 3 โครงการเอาใจคนใช้ ทางเปิด”จุดพักรถบรรทุก-จุดบริการประชาชน-แก้จุดวัดใจ”

กรมทางหลวงเดินหน้าลดอุบัติบนท้องถนน ผุด 3 โครงการเอาใจคนใช้ถนนทางหลวง เร่งเปิด”จุดพักรถบรรทุก S-M-L กว่า 111 แห่ง – เปิดจุดบริการประชาชนกว่า 581 แห่ง ลานกางเต้นท์ฟรี 60 แห่ง และเร่งแก้ปัญหาจุดวัดใจทางหลวงกว่า 1.4 พันแห่งทั่วไทย

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวงนอกจากมีภาระกิจหลักในการสร้างถนน ขยาย ปรับปรุงถนนได้มาตรฐาน ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้เดินทางอย่างปลอดภัยแล้ว  กรมทางหลวงยังได้ตระหนักที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย เนื่องจากในปัจจุบันรถบนท้องถนนมีรถทุกประเภทใช้ทาง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อคนใช้ถนนของกรมทางหลวง จึงมีแผนดำเนินการ 1.โครงการสร้างจุดพักรถบรรทุก 3 ขนาดคือ  พื้นที่ขนาดใหญ่ไซส์ (L) , พื้นที่ขนาดกลางไซส์ (M) และพื้นที่ขนาดเล็กไซส์ (S)รวม 111 แห่ง , 2.สร้างจุดบริการประชาชนสำหรับผู้ที่ใช้ทาง และ 3.ดำเนินการในโครงการปรับปรุงความปลอดภัยบริเวณทางแยกอันตราย (แยกวัดใจ)ที่มีกว่า 1,412 แห่งทั่วไทย ซึ่งแผนดำเนินการเพื่อลดอุบัติเหตุในภาพรวมทั้ง 3 โครงการจะเริ่ม ดำเนินการทั่วประเทศทั่วไทย ตั้งแต่ปี 65-67

.จุดพักรถบรรทุก S-M-L

สำหรับโครงการจุดพักรถบรรทุกทั่วประเทศ ตามแผนกรมทางหลวงจะดำเนินการใน 3 ปี คือ ปี 65-67 รวม 111 แห่งทั่วไทย แต่เดิมเมื่อ 5 ปีที่แล้วกรมทางหลวงทำจุดพักรถบรรทุกอยู่แล้ว แต่จะเป็นจุดพักรถที่ทำอยู่กับด่านชั่งน้ำหนัก ซึ่งมีขนาดใหญ่แต่พอเข้ามาเป็นอธิบดี พบว่าจุดพักรถไซส์ดังกล่าวไม่สามารถสร้างได้เยอะ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณและพื้นที่  จึงมีแนวคิดทำจุดพักรถออกเป็น 3 ขนาดคือ  พื้นที่ขนาดใหญ่ไซส์ (L) , พื้นที่ขนาดกลางไซส์ (M) และพื้นที่ขนาดเล็กไซส์ (S) โดยขนาด S และขนาด M จะเป็นขนาดที่ไม่ต้องเวนคืนพื้นที่ แต่ใช้ที่ในเขตทางที่ทางหลวงมีอยู่ หรือใช้บริเวณหมวดทางหลวง  ซึ่งได้ให้แนวคิดให้แขวงทางหลวงไปสำรวจว่ารถบรรทุกชอบจอดตรงไหนบ้าง เพื่อให้สนองตอบกับที่รถบรรทุกต้องการ ไม่ใช่อยู่ ๆ ไปทำแล้วไม่มีใครมาจอด ส่วนงบประมาณที่ใช้ดำเนินงาน ไซส์ S วงเงินประมาณ 5 ล้านบาท ไซส์ M วงเงิน 10 ล้านบาท ไซส์ L วงเงิน 200 ล้านบาท 

ซึ่งพื้นที่ที่จะทำทั้ง ขนาด S จะจอดรถบรรทุกได้ไม่เกิน 5 คัน , พื้นที่ขนาด M จะจอดรถบรรทุกไม่เกิน 10 คัน ซึ่งแต่ละจุดจอดพักจะทำช่องจอด รวมถึงติดตั้งไฟแสงสว่าง ห้องน้ำ ให้รถบรรทุกที่มาจอดเข้ามาใช้บริการ โดยกรมทางหลวงได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 64 และตามแผนจากปี 65- ปี 67 จะมีจุดให้บริการรวมกันกว่า 111 จุด ใช้งบประมาณปีละ 300-400 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 64 อยู่ที่ 47 แห่ง ,ปี 65 อยู่ที่ 33 แห่ง ,ปี 66 อยู่ที่ 22 แห่ง และปี 67 อยู่ที่ 9 แห่ง  นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะอัพเกรดแต่ละให้ดีขึ้นด้วย จุดไหนมีคนเข้ามาใช้บริการมาก ก็จะขยายพื้นที่และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทำห้องน้ำเพิ่ม หรือ ติดตั้งกล้อง CCTV เป็นต้น

“สาเหตุที่กรมทางหลวงมีแนวนโยบายที่จะทำจุดพักรถ เนื่องจากที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จะเกิดขณะที่รถบรรทุกจอดอยู่ข้างทาง จะมีมอเตอร์ไซค์ หรือ รถเก๋งเข้ามาชนท้าย เนื่องจากรถบรรทุกไม่มีที่จอดที่ชัดเจน บางครั้งไปจอดที่สถานีบริการปั๊มน้ำมัน ผู้ให้บริการก็ไม่ให้จอด และหากมีทีจอดพักแน่นอน จะช่วยลดโอกาสการถูกปล้นหรือถูกทำร้ายร่างกายระหว่างจอดพักรถข้างทาง เนื่องจากสถานที่จอดพักรถสะดวกสบายเป็นไปตามข้อกฎหมายในด้านการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ขณะเดียวกันกรมทางหลวงยังสามารถตรวจสอบควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกได้”

 .เปิดจุดบริการประชาชนทั่วไทย

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นกรมทางหลวงยังได้เร่งดำเนินการทำจุดบริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ที่ใช้บริการเส้นทางหลวงทั่วไทย ปัจจุบันจุดบริการประชาชนจะอยู่ตาม หมวดทางหลวง ที่อยู่ทั่วประเทศกว่า 581 แห่ง ซึ่งแต่ละจุดจะมีหน่วยบริการประชาชน ตำรวจทางหลวงบริการควบคู่ด้วย ยิ่งโดยเฉพาะช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลสงกรานต์ จะเปิดเป็นจุดบริหารประชาชนกว่า 423 แห่งภายในจุดบริการทั่วไทยจะมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการประชาชนผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง หรือ หากเป็นเทศกาลปีใหม่ บางหมวดทางหลวงหลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวก็จะเปิดเป็นที่พักผ่อน

ดังนั้นจึงให้นโยบายหมวดทางหลวงทั่วไทย สำรวจว่าพื้นที่ใดบ้างที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ให้บริการสำหรับการพักผ่อนด้วย ล่าสุดพบว่ามีกว่า 50-60 หมวดทางหลวงที่มีศักยภาพ ใกล้แหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นจุดแลนมาร์ค  ยิ่งถ้าช่วงหน้าหนาวหมวดทางหลวงบางแห่งจะเปิดเป็นจุดกางเต็นท์ให้ประชาชนได้ เช่นเเขวงทางหลวงแม่ฮ่องสอน หมวดทางหลวงปาย ทล 1395 ทางเข้าปาย,เเขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 1 หมวดทางหลวงจอมทอง ทล1009 จอมทอง – ดอยอินทนนท์ ,เเขวงทางหลวงน่านที่ 2 หมวดทางหลวงบ่อเกลือ ทล1081 หลักลาย – บ่อเกลือ ,เเขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 1  หมวดทางหลวงเขาค้อ ทล 2196 นางั่ว – ทุ่งสมอ เป็นต้น 

โดยหลังจากนี้กรมทางหลวงจะเร่งปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพในพื้นที่และจุดอื่นๆด้วย เพื่อให้บริการประชาชนได้เต็มที่ เบื้องต้นมีแนวคิดที่จะเพิ่มเติมหากบางจุดที่มียามดูแลอยู่ หากฉุกเฉินจริง ๆ ก็สามารถเข้าไปได้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมิตรกับประชาชนของกรมทางหลวง เช่น แวะพักเข้าห้องน้ำ สอบถามเส้นทาง เนื่องจากสิ่งที่เราทำอยู่คือการดูแลและห่วงใยประชาชนบนท้องถนน 

.ระดมแก้ปัญหาแยกวัดใจทางหลวง

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า กรมทางหลวงยังได้เร่งสำรวจบริเวณทางแยกอันตราย หรือ ที่เรียกว่า แยกวัดใจ ซึ่งแยกดังกล่าวจะเป็นแยกของถนนทางหลวงตัดกับถนนเส้นรองของถนนทางหลวงชนบท(ทช.) หรือ ทางหลวงท้องถิ่น  ซึ่งลักษณะของแยกวัดใจคือ ถนนตั้งแต่สองสายขึ้นไปมาบรรจบหรือตัดกัน กลายเป็นบริเวณที่มีจุดขัดแย้งกระแสจราจร (Conflict Point) ซึ่งเป็นบริเวณที่ส่งผลกับปริมาณจราจรและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งทางแยกอันตรายนั้น เป็นทางแยกทางหลวงที่ไม่มีการติดตั้งป้ายเครื่องหมายจราจร สัญญาณไฟจราจร หรือทางแยกที่ไม่สามารถระบุได้ว่าทิศทางไหนเป็นทางหลักหรือทางรอง แล้วมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆหลายครั้ง

ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีกว่า 1,412 แห่งทั่วไทย แบ่งเป็น 1.แยกวัดใจที่เป็น 3 แยก 950 แห่ง ,2. แยกวัดใจที่เป็น 4 แยก 374 แห่ง ,3.แยกวัดใจที่เป็น 5 แยก 2 แห่ง และ 4.แยกวัดใจที่เป็นรูปแบบอื่นๆ จำนวน 86 แห่ง ดังนั้นเพื่อเป็นการลดปัญหาที่จะเกิดุบัติเหตุ ทางหลวงจึงได้มีการสำรวจแยกวัดใจแต่ละจุดว่าจุดไหนบ้างต้องปรับปรุงอะไร เนื่องจากแต่ละจุดจะมีความต้องการทางกายภาพ สิ่งอำนวยความปลอดภัย อุปกรณ์เสริมในการปรับปรุงไม่เหมือนกัน โดยภาพรวมหลักๆจะ 1.ปรับปรุงป้ายจราจร เครื่องหมายจราจรบนผิวทาง 2. ติดตั้งไฟสัญญาณจราจร และ 3. ปรับปรุงกายภาพของทางแยก (Channelize) ให้เกิดความปลอดภัยและสอดคล้องกับสภาพการจราจร ทั้งนี้การปรับปรุงได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ  65 ซึ่งมีการปรับปรุงไปแล้ว  19 แห่ง ส่วนปีงบประมาณ  66 จะมีการปรับปรุง  10 แห่ง 

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า นอกจากการปรับปรุงแยกวัดใจแล้ว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ยังได้มีนโยบายที่จะให้กรมทางหลวง ศึกษาและรวบรวมข้อมูล รวมถึงเร่งสำรวจทางแยกทั่วไทยที่มีปริมาณการจราจรมากเพื่อทำสะพานลอยข้ามแยก โดยมั่นใจว่าสะพานลอยข้ามแยกจะช่วยแก้ไขปัญหากรณีเส้นทางหลักวิ่งทางตรงไม่ต้องติดไฟแดง สามารถวิ่งตรงข้ามสะพานลอยข้ามไปเลย  เบื้องต้นคาดว่าโครงการสะพานลอยข้ามแยกจะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 67 ซึ่งเส้นทางแรกที่น่าจะนำมาปฎิบัติก่อนคือ ถนนเพชรเกษม เป็นต้น