กรมควบคุมโรค แนะแนวทางปฏิบัติป้องกัน “ยุงลาย” ใน รพ.สนามทั่วไทย

  • ไม่ให้ยุงลายกัดบุคลากรและผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่นอนพักรักษาตัว
  • หากมีการป่วยซ้ำซ้อน อาจทำให้อาการผู้ป่วยโควิด 19 รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
  • เน้นให้ทุกแห่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย ให้ผู้ป่วยทายากันยุงทุก 6 ชม.

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคโควิด 19 เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามมากขึ้น โดยรูปแบบของโรงพยาบาลสนามมีทั้งอยู่ในอาคารถาวร และสร้างเป็นอาคารชั่วคราว จึงอาจมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเฉพาะยุงลายเพิ่มขึ้น เช่น ภาชนะใส่น้ำในห้องน้ำ/ห้องสุขา ภาชนะบรรจุอาหารต่างๆ เช่นแก้วน้ำพลาสติก หรือกล่องโฟม เป็นต้น ประกอบกับในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค หากผู้ป่วยโรคโควิด 19 ถูกยุงลายกัดและได้รับเชื้อไข้เลือดออก หรือโรคอื่นที่นำโดยยุงลาย ได้แก่ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือทรุดลงอย่างรวดเร็ว การรักษาจะมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากยิ่งขึ้น และอาจเสียชีวิตได้  จึงได้จัดทำโครงการ “โรงพยาบาลสนามปลอดยุงลาย” เพื่อเป็นแนวปฏิบัติป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ไม่ให้เกิดซ้ำเติมกับผู้ป่วยโรคโควิด 19

ด้านแพทย์หญิง ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติของโรงพยาบาลสนาม ในการป้องกันยุงลาย แบ่งเป็น 2 ประการ ประการแรกใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานและผู้ป่วยโรคโควิด 19 ขอแนะนำให้ปฎิบัติ ดังนี้ 1.ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ปิดแขนขาให้มิดชิด เพื่อลดโอกาส โดนยุงกัด 2.ทายากันยุงทุก 6 ชั่วโมง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด 3.ทิ้งภาชนะบรรจุอาหารและแก้วน้ำลงถังขยะ โดยเทน้ำหรือน้ำแข็งออกก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันยุงลายวางไข่

ประการที่ 2 ใช้สำหรับผู้บริหารโรงพยาบาลสนาม มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติ 7 ข้อ ดังนี้ 1.ให้มีการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัยภายนอกอาคารผู้ป่วยอย่างน้อย 1 วัน ก่อนเริ่มรับผู้ป่วย และทุก 2 สัปดาห์หลังรับผู้ป่วย หรือตามความจำเป็น ด้วยเครื่องพ่นชนิดฝอยละออง (ULV) โดยผู้ชำนาญการด้านการพ่นสารเคมี 2.กำหนดบุคลากรดำเนินการสำรวจและกำจัดภาชนะขังน้ำทั้งภายในและภายนอกอาคารในรัศมี 100 เมตร อย่างน้อย 1 วันก่อนเริ่มรับผู้ป่วย และทุกสัปดาห์ หลังรับผู้ป่วย หรืออาจใช้ทรายกำจัดลูกน้ำใส่ในภาชนะใส่น้ำใช้ 3.จัดบริเวณที่พักผู้ป่วยให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 4.ปิดฝาถังขยะให้มิดชิดและกำจัดขยะทุกวัน เพื่อไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

5.จัดหายาทากันยุงให้ผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาลสนาม และใช้อย่างระมัดระวัง โดยผลิตภัณฑ์ยาทากันยุงกลุ่มตะไคร้หอมห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผลิตภัณฑ์สารเคมีทั่วไปห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี 6.ในกรณีที่โรงพยาบาลสนามไม่มีมุ้งลวดหรือไม่มีเครื่องปรับอากาศ ให้แจกมุ้งให้ผู้ป่วยเพื่อป้องกันยุงกัด และ 7.เฝ้าระวังผู้ป่วยที่อาจเป็นโรคไข้เลือดออกร่วมกับโรคโควิด 19 หากพบผู้ป่วยสงสัย เช่น มีไข้สูงลอยติดต่อกันหลายวัน มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หน้าแดง ให้แพทย์ประเมินอาการและเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็ว เอ็นเอสวัน แอนติเจน เทส คิท (NS1 antigen test kit) เพื่อตรวจว่าติดเชื้อไข้เลือดออกหรือไม่ และแพทย์จะสามารถให้การดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองโรคติดต่อนำโดยแมลง โทร 02 590 3103-5 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422