กทพ.ทุ่ม 4แสนล้านลงทุน 10 ปีวางโครงข่ายทางด่วนทั่วไทย

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า  กทพ.มีแผนที่จะลงทุนระยะยาว 10 ปี (66- 75) ในการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ โดยมีแผนลงทุนพัฒนาโครงการ จำนวน 11 โครงการ ระยะทางรวม 200 กม. มูลค่าลงทุนกว่า 400,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงิน 30,000 ล้านบาท ,โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่3 (MR 10) วงเงิน 24,000 ล้านบาท , โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก วงเงิน 17,000 ล้านบาท และตอน N1 ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ) วงเงิน 50,000 ล้านบาท 

นอกจากนั้นลงทุนในโครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 15,000 ล้านบาท, โครงการส่วนต่อขยาย ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จ.ภูเก็ต วงเงิน 47,000 ล้านบาท , โครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double deck) วงเงิน 35,000 ล้านบาท  ,โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯรอบที่3 ด้านทิศใต้ (สมุทรสาคร-สมุทรปราการ วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท, โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย วงเงิน 50,000 ล้านบาท , โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด วงเงิน 10,000 ล้านบาท , โครงการทางพิเศษ สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 20,000 ล้านบาท  และโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) วงเงิน 4,400 ล้านบาท

นายสุรเชษฐ์  กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในปี 67 มีแผนที่จะประมูล ประมาณ 4โครงการประกอบด้วย  โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่3 (MR 10) วงเงิน 24,000 ล้านบาท  ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างเตรียมประกาศขายซองประกวดราคาภายในปลายเดือนธ.ค.66 โดยในกลางปี 67 จะได้ผู้ชนะการประมูล โดยใช้ระยะเวลา3ปี ดำเนินการก่อสร้าง และเปิดให้บริการภายในปี 70

และ โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวขณะนี้ได้ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด ) เรียบร้อยแล้ว  และจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยใช้ คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 71 , โครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double deck) วงเงิน 35,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นเอกชนผู้ที่ได้รับสัมปทานมาร่วมทุนกับกทพ.เพื่อแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรี ระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ(บอร์ด)กทพ.ชุดใหม่และครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

นายสุรเชษฐ์  กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมีโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก วงเงิน 17,000 ล้านบาท ปัจจุบันกทพ.ได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างรอความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากนี้จะเสนอต่อคณะกรรมการกทพ.และครม.เห็นชอบอนุมัติประมูลโครงการตอน N2 ภายในกลางปี 67

 “สำหรับโครงการตอน N2 ที่ผ่านมา ได้นำเสนอและผลักดันโครงการมาโดยตลอด หากสุดท้ายแล้วก็นำเสนอโครงการไม่สามารถไปต่อได้คงต้องยกเลิกไป เพื่อคืนพื้นที่ให้ประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมากทพ.ได้ขอเวนคืนที่ดินของประชาชนมาประมาณ 25 ปีแล้ว”นายสุรเชษฐ์ กล่าว 

สำหรับผลงานของกทพ. ที่ได้เปิดให้บริการทางพิเศษไปแล้ว 8 สายทาง  รวมระยะทาง 224.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)     และทางพิเศษประจิมรัถยา

นอกจากนั้นยังมีโครงการสำคัญเร่งด่วนที่กำลังดำเนินการ 3 โครงการ ประกอบด้วย  1) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร  ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร กำหนดเปิดให้บริการภายในต้นปี 68 2) โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร ที่อยู่ระหว่างดำเนินการหาผู้รับจ้างดำเนินการ 3) โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวน   รอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเสนอ ครม. ขออนุมัติดำเนินโครงการฯ